คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฉ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ช. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร่วมกันปล่อยเงินกู้ ซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าขายที่ดิน เงินในบัญชีเงินฝากประจำทั้งสามรายการเป็นทรัพย์สินที่ ช. และ ฉ. ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา ช. และ ฉ. จึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินจำนวนดังกล่าวและต้องแบ่งให้คนละเท่า ๆ กัน
การที่ ฉ. ฝากเงินประจำไว้แก่จำเลยที่ 2 เงินที่ฝากประจำย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ฝากประจำให้ครบจำนวนพร้อมดอกเบี้ยเมื่อถึงกำหนดแก่ ฉ.
การที่ ฉ. มีเจตนายกเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 และได้ทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ 2 ให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้แทนการถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 เนื่องจากเงินที่ฝากประจำยังไม่ครบกำหนด หากถอนเงินในขณะนั้นจะไม่ได้ดอกเบี้ย ถือได้โดยปริยายว่ามีเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องของ ฉ. ที่ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อได้มีการปฏิบัติถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ฉ. ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง การโอนสิทธิเรียกร้องในเงินฝากประจำของ ฉ. ให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมสมบูรณ์ สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้เงินฝากประจำจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 กรณีไม่ใช่เป็นเพียงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากแทน ฉ. เท่านั้น เมื่อ ฉ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฉ. โดยคำสั่งของศาลชั้นต้น ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินฝากประจำดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,258,572.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นทุกระยะ 3 เดือน อัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินฝากดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปโดยสุจริต จำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่พึงประพฤติในกิจการของธนาคารแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ถอนต้นเงินฝากประจำไปก่อนครบกำหนด 3 เดือน จำเลยที่ 2 จึงไม่จ่ายดอกเบี้ยให้ตามข้อตกลงในคำขอเปิดบัญชี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 563,398.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เงินในบัญชีฝากประจำตามฟ้องเป็นทรัพย์มรดกของนางสาวฉันทนาแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า เงินในบัญชีเงินฝากประจำตามฟ้องเป็นของนายโชติ บิดาจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางสาวฉันทนาอยู่กินฉันสามีภริยากับ นายโชติโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร่วมกันทำมาหากินโดยการปล่อยเงินกู้ซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าขายที่ดิน เงินในบัญชีเงินฝากประจำตามฟ้องทั้งสามรายการรวม 1,126,797.64 บาท เป็นทรัพย์สินที่นายโชติและนางสาวฉันทนาทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา นายโชติและนางสาวฉันทนาจึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินจำนวนดังกล่าวและต้องแบ่งให้คนละเท่า ๆ กัน โดยเป็นทรัพย์มรดกของนายโชติกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 563,398.82 บาท และเป็นทรัพย์มรดกของนางสาวฉันทนากึ่งหนึ่งเป็นเงิน 563,398.82 บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า นางสาวฉันทนาได้ยกเงินในบัญชีเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า การที่นางสาวฉันทนาฝากเงินประจำไว้แก่จำเลยที่ 2 สาขาหาดใหญ่ เงินที่ฝากประจำย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ฝากประจำให้ครบจำนวนพร้อมดอกเบี้ยเมื่อถึงกำหนดแก่นางสาวฉันทนา…
การที่นางสาวฉันทนามีเจตนายกเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 และได้ทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ 2 สาขาหาดใหญ่ ให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้แทนการถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 เนื่องจากเงินที่ฝากประจำยังไม่ครบกำหนด หากถอนเงินในขณะนั้นจะไม่ได้ดอกเบี้ย ตามพฤติการณ์เช่นนี้ พอถือได้โดยปริยายว่า นางสาวฉันทนามีเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องของนางสาวฉันทนาที่ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อได้มีการปฏิบัติถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ นางสาวฉันทนาได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง การโอนสิทธิเรียกร้องในเงินฝากประจำของนางสาวฉันทนาให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมสมบูรณ์ สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้เงินฝากประจำจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 กรณีไม่ใช่เป็นเพียงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากแทนนางสาวฉันทนาเท่านั้น เมื่อนางสาวฉันทนาถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวฉันทนาโดยคำสั่งศาลชั้นต้น ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินฝากประจำดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1… ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 16,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าทนายความชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ.

Share