คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 322/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ภริยาหลวงฟ้องหย่าขาดกับสามีแล้วทำยอมในศาลตกลงหย่าและแบ่งทรัพย์กันด้วยนั้น หากปรากฏว่าขณะทำยอม สามีมีภริยาน้อยอยู่อีกคนหนึ่งทรัพย์ที่สามีได้รับส่วนแบ่งมานั้นย่อมตกเป็นสินสมรสระหว่างสามีและภริยาน้อย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ 40 ปีมานี้ นายทุ่ม นางสุด บิดามารดาโจทก์ทั้งสองอยู่กินเกิดทรัพย์อันดับ 1, 2, 3 ท้ายฟ้อง ต่อมาเมื่อ 23 ปีมานี้ นายทุ่มนางสุดหย่ากันให้ทรัพย์ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์โดยให้นายทุ่มดูแลครอบครองตลอดมาจนนายทุ่มได้จำเลยที่ 1 เกิดบุตรด้วยกัน 6 คน และเกิดทรัพย์อันดับ 4, 5, 6 และเรือนหลังหนึ่งเมื่อเดือน 8 พ.ศ. 2503 นายทุ่มถึงแก่กรรมมิได้ทำพินัยกรรมทรัพย์อันดับ 1, 2, 3 จึงตกแก่โจทก์ ทรัพย์อันดับ 4, 5, 6 พร้อมเรือน ได้แก่โจทก์และบุตรจำเลยตามส่วนจำเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยทั้ง 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มีสินเดิม และเป็นสามีภริยากับนายทุ่มโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ 25-26 ปีมานี้ ทรัพย์ตามฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายทุ่ม นายทุ่มไม่ได้ยกทรัพย์อันดับ 1, 2, 3 ให้โจทก์การแบ่งทรัพย์ต้องแบ่งให้จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สมรสก่อน ส่วนที่เหลือจึงเป็นมรดกแบ่งออกเป็น 9 ส่วนได้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 กับบุตร 6 คน คนละเท่า ๆ กัน

ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความรับกันว่านายทุ่มนางสุดได้ทำหนังสือตกลงกันตามสัญญาฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม 2477 จริง ทรัพย์อันดับ 1, 2, 3 เป็นทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมลงวันที่ 1 ตุลาคม 2483 ในคดีแพ่งแดงที่ 44/2483 นายทุ่มมีภริยาเพียง 2 คน คือ นางสุดกับนางหนู จำเลยที่ 1 นายทุ่มตายเมื่อเดือน 8 พ.ศ. 2503 โจทก์จำเลยจะขอสืบในข้อที่ว่า จำเลยที่ 1 กับนายทุ่มเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และทรัพย์อันดับ 1, 2, 3 เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ตายหรือเป็นทรัพย์ของโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่ารูปคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า นายทุ่มนางหนูจำเลยที่ 1เป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 จึงเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมาย และทรัพย์อันดับ 1, 2, 3 เป็นทรัพย์ที่นายทุ่มได้มาในระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากับนางหนู จึงเป็นสินสมรสระหว่างนายทุ่มนางหนูตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1466 จึงพิพากษาให้แบ่งทรัพย์อันดับ 1 ถึง 6 ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่นางหนู 1 ส่วน อีก 1 ส่วนเป็นมรดกของนายทุ่ม ตกได้แก่ทายาท 9 คน คือ นางหนูจำเลยที่ 1 และบุตร 6 คนกับโจทก์ทั้งสองคนละส่วนเท่ากัน

โจทก์อุทธรณ์ว่า นายทุ่มกับนางหนูไม่เป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมายทรัพย์อันดับ 1, 2, 3 ไม่ใช่สินสมรสเอามาแบ่งไม่ถูกต้องทรัพย์นอกจากนี้ไม่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นางหนูเป็นภริยานายทุ่มชอบด้วยกฎหมายทรัพย์อันดับ 1, 2, 3 ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นของโจทก์ แต่เป็นสินสมรสระหว่างนายทุ่มนางหนูหรือไม่นั้นเห็นว่าทรัพย์นี้เป็นทรัพย์ที่นายทุ่มเป็นเจ้าของอยู่แล้วกับนางสุด การที่คนทั้งสองมาตกลงกันตามสัญญาประนีประนอมเมื่อ พ.ศ. 2483 ว่า ให้ทรัพย์อะไรเป็นของนายทุ่มทรัพย์อะไรเป็นของนางสุด ก็เพื่อให้เป็นการเสร็จเด็ดขาดไประหว่างคนทั้งสองที่หย่าขาดกัน ไม่ใช่เป็นทรัพย์ที่นายทุ่มทำมาหาได้เกิดขึ้นใหม่ระหว่างที่อยู่กินกับนางหนูจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างคนทั้งสอง และในระหว่างนายทุ่มกับนางหนูก็ย่อมถือว่าเป็นสินเดิมของนายทุ่ม ไม่ใช่สินสมรสดังศาลชั้นต้นวินิจฉัย จึงพิพากษาแก้ให้แบ่งทรัพย์อันดับ 1, 2, 3เป็น 9 ส่วน แก่นางหนูกับบุตร 6 คนและโจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้ง 4 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ทรัพย์อันดับ 1, 2, 3 นายทุ่มเจ้าของมรดกได้มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2483 ในสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 44/2483 ซึ่งนางสุด วรรณนิยม เป็นโจทก์ฟ้องขอหย่านายทุ่ม วรรณนิยม จำเลย ซึ่งปรากฏว่าก่อนหน้าที่คนทั้งสองนี้จะได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันนั้น นายทุ่มมีนางหนูจำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วอีกคนหนึ่งดังนั้นการที่นายทุ่มได้ทรัพย์อันดับ 1, 2, 3 มาในระหว่างที่นายทุ่มกับนางหนูจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันอยู่ตามกฎหมาย ทรัพย์ดังกล่าวนี้ก็ต้องเป็นสินสมรสระหว่างคนทั้งสองนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 และศาลฎีกายังเห็นต่อไปด้วยว่า วรรคท้ายของมาตรานี้ บัญญัติไว้ว่า “ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส “ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดเลยที่จะมาหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นสินเดิมของนายทุ่มนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นชอบด้วย ต้องฟังว่าเป็นสินสมรสระหว่างนายทุ่มกับนางหนูจำเลยฎีกาจำเลยฟังขึ้น

พิพากษาแก้ บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share