แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง ฯ มีวัตถุประสงค์จะคุ้มครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสาธารณชนส่วนพระราชบัญญัติควบุคมค่าเช่าในภาวะคับขัน ฯ เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสาธารณชนจึงมีผลบังคับเหนือกว่ากฎหมายที่คุ้มครองเอกชน การที่พระราชบัญญัติการชลประทานหลวงบัญญัติห้ามปลูกสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดรุกล้ำคันคลอง ชานคลองนั้น แม้จำเลยจะเช่าที่ดินกรมชลประทานปลูกเรือนอยู่อาศัยมาก่อนก็ตามก็ย่อมไม่ได้รับยกเว้นที่จะคงอยู่ต่อไป และไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน ฯ ด้วย
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันมา
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ปลูกโรงเรือนเพื่ออยู่อาศัยและค้าขายในเขตชานคลองระพีพัฒน์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยเช่าที่ดินจากโจทก์เป็นปี ๆ สัญญาเช่าสิ้นสุดเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ โจทก์บอกเลิกการเช่า จำเลยฝ่าฝืน จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยรื้อโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างออกไป และไม่ให้เข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างในฟ้องไม่ตรงกับบทบัญญัติพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง ๆ ห้องที่จำเลยใช้อยู่อาศัยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ.๒๕๐๔ พิพากษาให้จำเลยรื้อห้องที่ประกอบการค้า ออกไปพ้นที่ดินโจกท์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยรื้อโรงเรือนที่ปลูกสร้างที่จำเลยใช้เป็นที่อยู่อาศัยออกไปให้พ้นเขตที่ดินพิพาทด้วย
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทปลูกโรงเรือนเป็นที่อยู่อาศัยนั้น เป็นการให้เช่าก่อนที่ทางราชการจะประกาศใน พ.ศ.๒๔๘๒ ว่า คลองระพีพัฒน์เป็นทางน้ำชลประทานตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.๒๔๘๕ แต่พระราชบัญญัตินี้ก็ยังมิได้บัญญัติห้ามมิให้มีการปลูกสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดรุกล้ำคันคลองหรือชายคลอง น่าจะเป็นเพราะเหตุนี้ โจทก์จึงยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อมาจนได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๗ ซึ่งได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดเพาะปลูกหรือปลูกสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดรุกล้ำทางน้ำชลประทาน ชานคลอง เขตคันคลอง หรือเขตพนัง ฉะนั้น ใน พ.ศ.๒๔๙๘ โจทก์จึงได้บอกเลิกการเช่าที่ดินพิพาทกับจำเลย และให้จำเลยรื้อโรงเรือนออกไป เห็นว่า บทบัญญัติแห่ง พระราชบัญญัติการชลประทานหลวงดังกล่าวแล้ว มีวัตถุประสงค์จะคุ้มครองสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อันเป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสาธารณชน ส่วนพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน ฯ เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองเอกชนเป็นราย ๆ ไป ฉะนั้น กฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสาธารณชน จึงมีผลบังคับเหนือกว่ากฎหมายที่มุ่งคุ้มครองเอกชน จำเลยจึงอ้างความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน ฯไม่ได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย