คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1354/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นที่ว่างยังไม่ได้มีการปลูกสร้าง และไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน แต่ปรากฎว่าอยู่ริมถนนหลวงในเขตต์เทศบาลและมีบ้านเรือนปลูกอยู่แล้วโดยรอบที่นี้ จึงมีลักษณะเป็นที่บ้าน.
บิดาโจทก์ได้ทำสัญญาขายที่พิพาทซึ่งไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ให้แก่จำเลย ทั้งยังได้ลงชื่อจำเลยไว้ในใบไต่สวนเพื่อรับโฉนดในภายหลัง และมอบให้จำเลยครอบครองโดยเปิดเผย ดังนี้ ตามพฤตติการณ์แห่งรูปคดีเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าคู่กรณีได้รู้ว่าหนังสือสัญญานี้ไม่สมบูรณ์เป็นสัญญาซื้อขาย ก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์ เป็นสัญญาจะขาย กรณีเข้าลักษณะตามบทบัญญัติแห่ง ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา 136.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินบ้านแปลงหนึ่งเป็นของ ร.ต.ต.นุ่มบิดาโจทก์ บัดนี้ ร.ต.ต.นุ่มวายชนม์แล้ว จำเลยที่ ๑ ประกาศขอโอนขายให้แก่จำเลยที่ ๒ และขอให้ศาลแสดงว่าที่บ้านรายนี้เป็นของ ร.ต.ต.นุ่ม และตกเป็นมฤดกได้แก่โจทก์ จำเลยต่อสู้ว่า ที่พิพาทเป็นที่มือเปล่า ร.ต.ต.นุ่มได้ขายให้แก่จำเลยที่ ๑ และยังได้นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดใส่ชื่อจำเลยที่ ๑ ไว้ในใบไต่สวนเพื่อรับโฉนดในภายหลัง ทั้งมอบให้จำเลยเข้าครอบครองโดยเปิดเผยเป็นเวลา ๔ ปี จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิตามกฎหมาย และฟ้องแย้งขอศาลบังคับให้โจทก์ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิให้แก่จำเลยที่ ๑ ด้วย โจทก์แก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาที่จำเลยอ้างเป็นสัญญาปลอม มิฉะนั้นเป็นโมฆะตาม ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๔๕๖ จำเลยใช้สิทธิครอบครองไม่ถึง ๑๐ ปีไม่ได้กรรมสิทธิ นางเกลื่อน , นางสาวประคองภริยาและบุตรี ร.ต.ต.นุ่มขออนุญาตเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต ศาลชั้นต้นฟังว่าบิดาโจทก์ได้ขายและมอบการครอบครองให้แก่จำเลยแล้ว เป็นการแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองให้แก่จำเลย ๆ ย่อมได้สิทธิ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่พิพาทเป็นที่บ้าน จำเลยที่ ๑ ซื้อจากบิดาโจทก์โดยทำหนังสือกันเอง นิติกรรมตกเป็นโมฆะ พิพากษากลับว่า ที่พิพาทยังเป็นของ ร.ต.ต.นุ่มผู้วายชนม์ เป็นมฤดกตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ให้จำเลยส่งที่ดินคืนโจทก์ผู้เป็นทายาท ร.ต.ต.นุ่ม กับห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาท และยกฟ้องแย้ง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ที่รายนี้จะเป็นที่ว่าง ยังมิได้มีการปลูกสร้างและไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินก็ดี แต่ปรากฎอยู่ว่าอยู่ริมถนนหลวงในเขตต์เทศบาล เดิมเป็นส่วนหนึ่งของที่บ้านนายพลับปู่โจทก์ และมีบ้านเรือนอยู่แล้วโดยรอบที่นี้ จึงมีลักษณะเป็นที่บ้าน หนังสือสัญญาที่ ร.ต.ต.นุ่มทำให้แก่จำเลยที่ ๑ ตามพฤตติการณ์แห่งรูปคดีเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าคู่กรณีได้รู้ว่า หนังสือสัญญานี้ไม่สมบูรณ์เป็นสัญญาซื้อขาย ก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นสัญญาจะขาย และจะมาทำพิธีโอนให้ภายหลัง โดย ร.ต.ต.นุ่มผู้ขายได้แสดงเจตนาให้ประจักษ์อยู่หลายประการ เช่น มอบการครอบครองให้จำเลย ถ้าจำเลยพาเจ้าพนักงานให้ลงชื่อจำเลยในใบไต่สวน กรณีจึงเข้าลักษณะตามบทบัญญัติแห่ง ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๑๓๖
พิพากษากลับ ให้โจทก์ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑

Share