คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1549/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 บัญญัติแต่เพียงให้ เจ้าพนักงานแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับว่าเขาจะต้องถูกจับเท่านั้น มิได้กำหนดให้มีการแจ้งข้อหาหรือการบันทึกการจับกุมแต่ประการใด
การแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา134 กำหนดให้กระทำเฉพาะเมื่อผู้ต้องหามาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนและ ไม่จำต้องแจ้งข้อหาทุกกระทง ดังนั้นการที่พนักงานสอบสวนเติมคำว่า บุกรุกลงในบันทึกการจับกุมที่ผู้จับทำขึ้น จึงหาทำให้การสอบสวนเป็นการ สอบสวนที่ไม่ ชอบด้วยกฎหมายไม่

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 359, 83 ปรับจำเลยที่ 1 1,200บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 คนละ 800 บาท ส่วนจำเลยที่ 16 ไม่ต้องรับโทษ ได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัวไป ข้อหาอื่นให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ต้องปรับบทลงโทษจำเลยทั้งหมดตามมาตรา 358จำเลยทั้งหมดฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “เหตุที่จำเลยอ้างว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจภูธรตำบลทุ่งมน แต่ให้จำเลยลงชื่อที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอปราสาท และนายเมือยผู้ใหญ่บ้านมิได้ร่วมไปจับจำเลยกับจ่าสิบตำรวจสมพงษ์ แต่จำเลยมาตามหมายเรียก และร้อยตำรวจโททองพูลไม่ได้ไปดูที่เกิดเหตุนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยฎีกากล่าวโต้เถียงข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยานโจทก์ จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาข้อ 2(2) คงมีเพียงว่า การที่ร้อยตำรวจโททองพูลพนักงานสอบสวนเติมคำว่า “บุกรุก” ลงในบันทึกการจับกุม ซึ่งจ่าสิบตำรวจสมพงษ์เป็นผู้ทำตามเอกสาร ป.จ.1 นั้น จะทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ซึ่งสาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การจับกุมผู้ต้องหานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 บัญญัติแต่เพียงให้เจ้าพนักงานแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับว่าเขาจะต้องถูกจับเท่านั้น มิได้กำหนดให้มีการแจ้งข้อหาหรือการบันทึกการจับกุมแต่ประการใด สำหรับการแจ้งข้อหานั้น กฎหมายกำหนดให้กระทำเฉพาะเมื่อผู้ต้องหามาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 เท่านั้น ทั้งการแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 ก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาต่อผู้ต้องหาทุกกระทงด้วยซ้ำไป ฉะนั้นการที่ร้อยตำรวจโททองพลูพนักงานสอบสวนเติมคำว่า “บุกรุก” ลงในบันทึกการจับกุมตามเอกสาร ป.จ.1 นั้น จึงหาทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่”

พิพากษายืน

Share