แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความผิดฐานแจ้งความเท็จมิได้อยู่ในข้อยกเว้นของ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ที่ว่าเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยแจ้งชัด ให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา ฉะนั้น จำเลยจะมีความผิดก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาคือแจ้งโดยรู้อยู่แล้วว่าความที่แจ้งนั้นเป็นความเท็จ
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาในข้อหาความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173 เฉพาะจำเลยที่ 4 โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ผู้กระทำไม่จำต้องรู้ว่าความที่แจ้งเป็นความเท็จ ฎีกาอื่น ๆ นอกจากนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาจึงไม่รับ โจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่ง
สำหรับปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นสั่งรับมานั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 บัญญัติว่า บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา คดีตามข้อหาตามฎีกาของโจทก์ ไม่ใช่คดีที่อยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าว จำเลยมีความผิดก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา คือได้แจ้งความโดยรู้อยู่แล้วว่าความที่แจ้งนั้นเป็นความเท็จเท่านั้น”
พิพากษายืน