คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 192/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

รถยนต์รายพิพาทผู้นำเข้าเสียอากรนำเข้าถูกต้องแล้ว โจทก์รับประกันภัยไว้ รถคันนี้ถูกคนร้ายลักไป โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วรับโอนไว้จากผู้เอาประกันภัย ซึ่งชำระค่าเช่าซื้อรถครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานศุลกากรของจำเลยจับรถได้ หาว่านำเข้ามาโดยไม่เสียภาษีอากรแล้วขายต่อไป จำเลยสามารถตรวจสอบได้ แต่ไม่ตรวจสอบว่าเป็นรถที่เสียอากรแล้วหรือไม่ เป็นประมาทเลินเล่อทำละเมิดต่อโจทก์พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 25 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2497 คำว่าสิ่งใด ๆ ที่พึงต้องริบ นำมาใช้แก่รถยนต์ที่เสียอากรแล้วไม่เป็นสิ่งที่พึงริบ ไม่ได้ แม้เกิน 30 วัน โจทก์ก็เรียกคืนได้ จำเลยซื้อรถโดยสุจริต แต่มิใช่จากการขายทอดตลาด ไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์
เอกสารภาพถ่ายหนังสือของสำนักงานทะเบียนว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลไม่มีเจ้าหน้าที่รับรองว่าถูกต้อง แต่มีพยานบุคคลเบิกความว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล
กรมธรรม์ประกันภัยมิได้ปิดอากรแสตมป์ แต่คดีนี้มิใช่กรณีบังคับระหว่างผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัย เป็นเรื่องผู้รับประกันภัยรับช่วงสิทธิมาฟ้องคนภายนอก ไม่อยู่ในบังคับต้องมีเอกสารมาแสดงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 คำพยานบุคคลของโจทก์ฟังได้โดยไม่ต้องอาศัยเอกสาร
บริษัทเป็นผู้เอาประกันภัยโดยผู้เช่าซื้อรถเป็นผู้แทน แม้ไม่มีหนังสือตั้งตัวแทนตามมาตรา 798 แต่มิใช่เป็นคดีระหว่างบริษัทกับผู้ทำการแทนว่าผู้ทำการแทนเป็นตัวแทนนำรถยนต์ มาเอาประกันภัยกับโจทก์หรือไม่โจทก์ไม่ต้องมีเอกสารตั้งตัวแทนมาแสดง
ผู้เช่าซื้อชำระราคาครบถ้วนแล้ว ได้กรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อแล้วมอบสิทธิในรถยนต์แก่โจทก์ แม้กรรมการของโจทก์คนเดียวลงลายมือชื่อรับมอบรถ กรรมการไม่ครบ 2 คนตามข้อบังคับ และไม่ปิดอากรแสตมป์ในใบรับมอบรถ คำพยานบุคคลก็ฟังได้ว่าโจทก์ได้รับรถเป็นของโจทก์แล้วและไม่ใช่คดีพิพาทกันตามสัญญาเช่าซื้อ จึงไม่ต้องนำสัญญาเช่าซื้อมาแสดง

ย่อยาว

โจทก์เป็นบริษัทรับประกันภัยได้รับประกันภัยรถยนต์ซึ่งผู้เช่าซื้อเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ รถคันนี้ผู้นำเข้าได้เสียภาษีอากรถูกต้องแล้วมีผู้ลักรถนี้ แล้วเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จับได้โดยข้อหาว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เสียค่าอากรแล้วขายให้จำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์แก่โจทก์ ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้เงิน 70,000บาท กับดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสอง ข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองอ้างเหตุหลายประการ ประการแรกจำเลยทั้งสองอ้างว่า พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล เพราะโจทก์อ้างแต่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งเป็นภาพถ่ายเอกสารของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร โดยไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้องนั้น ปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่าแม้เอกสารดังกล่าวจะไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้อง แต่เอกสารนี้ก็เป็นภาพถ่าย ซึ่งมีลักษณะว่าถ่ายมาจากต้นฉบับ ประกอบกับโจทก์ก็นำนายโชติ อายุการ มาเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์รับประกันภัยทุกชนิด จำเลยก็มิได้นำสืบหักล้างแต่อย่างใด พยานโจทก์ฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย

ประการที่สอง จำเลยทั้งสองอ้างว่า กรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.1 และสำเนากรมธรรม์ท้ายฟ้องหมาย 2 โจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์จึงรับฟังเอกสารทั้งสองฉบับว่าโจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์คันพิพาทไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้มิใช่เป็นเรื่องฟ้องบังคับตามสัญญาประกันภัยระหว่างผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยแต่เป็นเรื่องผู้รับประกันภัยใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยแล้วรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกทรัพย์ที่เอาประกันภัยคืนจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ไม่อยู่ในบังคับต้องนำเอกสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 มาแสดงต่อศาล ลำพังแต่พยานบุคคลของโจทก์คือนายโชติ อายุการ กรรมการบริษัทโจทก์ นายสมนึก อรรถกรปัญญาหรือแซ่จิว พนักงานอุบัติเหตุของบริษัทโจทก์ และนายวิเชียร ศิริพงษ์ หัวหน้าพนักงานอุบัติเหตุของบริษัทโจทก์ ที่นำมาสืบก็ฟังได้ว่าโจทก์รับประกันภัยรถยนต์พิพาทไว้จริง และที่จำเลยทั้งสองอ้างอีกว่าตามเอกสารหมาย จ.1ระบุว่าบริษัทจินดามอเตอร์ จำกัด โดยนางจิราภา วนิชชาชีวะ เป็นผู้แทนเป็นผู้เอาประกันภัย แต่โจทก์มิได้นำหลักฐานการเป็นตัวแทนมาแสดงต่อศาลจึงรับฟังว่ามีการทำสัญญาประกันภัยรถยนต์คันพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1ไม่ได้นั้น ปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้มิใช่เป็นกรณีพิพาทระหว่างนางจิราภากับบริษัทจินดามอเตอร์ จำกัด ว่านางจิราภาเป็นตัวแทนบริษัทจินดามอเตอร์จำกัด นำรถยนต์คันพิพาทไปทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์หรือไม่ จึงไม่จำต้องนำพยานเอกสารการเป็นตัวแทนมาแสดง และลำพังพยานบุคคลของโจทก์เท่าที่นำสืบก็ฟังได้ว่า นางจิราภานำรถยนต์คันพิพาทไปทำสัญญาประกันภัยไว้กับโจทก์แทนบริษัทจินดามอเตอร์ จำกัด แล้ว

ประการที่สาม จำเลยทั้งสองอ้างว่า ทะเบียนรถคันพิพาทเอกสารหมาย จ.2 เป็นของบริษัทจินดามอเตอร์ แต่หนังสือสัญญาโอนกรรมสิทธิ์มีชื่อนางจิราภา วนิชาชีวะ เป็นผู้โอน เมื่อนางจิราภาไม่มีสิทธิใด ๆ ในรถยนต์คันพิพาท นางจิราภาก็ไม่มีสิทธิโอนรถยนต์พิพาทให้โจทก์นั้น เห็นว่า ปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบหักล้างว่านางจิราภาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทมาจากบริษัทจินดามอเตอร์ จำกัด และชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว นางจิราภาจึงเป็นเจ้าของรถคันพิพาทตามกฎหมายและมีสิทธิโอนรถพิพาทให้โจทก์ได้ ที่จำเลยทั้งสองอ้างอีกว่านายโชติ อายุการ ลงลายมือชื่อรับโอนรถยนต์พิพาทคนเดียว เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทโจทก์ที่ต้องมีกรรมการ 2 นายลงลายมือชื่อ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับโอนสิทธิในรถพิพาทนั้น เห็นว่าสัญญาโอนรถพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 นี้ เป็นสัญญาที่ผู้เอาประกันทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าผู้เอาประกันได้มอบสิทธิในรถที่เอาประกันคันพิพาทให้ผู้รับประกันภัยแล้วแม้ฝ่ายผู้รับประกันภัยคือโจทก์ไม่ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.3 สัญญาเอกสารหมาย จ.3 ก็สมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้ ทั้งบริษัทโจทก์ก็ยอมรับผลแห่งการกระทำที่นายโชติทำแทนไปแล้ว และที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า เอกสารหมาย จ.3 เป็นใบรับสำหรับการขายและโอนกรรมสิทธิ์ยานพาหนะซึ่งต้องจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มิได้ปิดอากรแสตม์ปให้ครบถ้วนตามกฎหมาย ใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 และบัญชีอัตราอากรแสตม์ปท้ายหมวด 6 อันดับที่ 28(3) นั้นเห็นว่าปัญหานี้แม้จะไม่รับฟังพยานเอกสารหมาย จ.3 แต่พยาหลักฐานอื่นของโจทก์ก็ฟังได้ว่าโจทก์ได้รับช่วงสิทธิรถยนต์คันพิพาที่รับประกันภัยไว้แล้วตามกฎหมาย เพราะโจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายให้ผู้เอาประกันภัยแล้ว

ประการที่สี่ จำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ไม่มีเอกสารสัญญาเช่าซื้อและเอกสารชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทมาแสดง ทั้งไม่นำนางจิราภาผู้เช่าซื้อและบริษัทจินดามอเตอร์ จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อมาสืบ จึงต้องถือว่านางจิราภาไม่เคยมีสิทธิใด ๆ ในรถยนต์คันพิพาทนั้น เห็นว่าคดีนี้มิได้พิพาทกันตามสัญญาเช่าซื้อ และจำเลยทั้งสองก็มิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้โดยตรง แม้โจทก์จะไม่นำสัญญาเช่าซื้อและพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองอ้างมาแสดงก็ไม่สำคัญ พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบก็ฟังได้ว่านางจิราภาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพามาจากบริษัทจินดามอเตอร์ จำกัด และได้ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วจริง นางจิราภาจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทก่อนที่จะโอนให้โจทก์

ตามเหตุผลที่วินิจฉัยมาแล้วตามลำดับ ฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้” ฯลฯ

“มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นรถที่ผู้นำเข้าได้เสียภาษีอากรขาเข้าถูกต้องตามกฎหมายให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ขายรถยนต์คันพิพาทให้จำเลยที่ 2ไป โดยไม่ตรวจสอบเสียก่อนว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นรถยนต์ที่ผู้นำเข้าได้เสียภาษีอากรขาเข้าแล้วหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ก็รับว่าสามารถตรวจสอบได้เพราะยังไม่เกิน 5 ปี ตามระเบียบยังไม่มีการทำลายหลักฐาน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพื่อการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์ไม่มาขอรถยนต์คืนภายใน 30 วัน นับแต่วันถูกยึด ถือไม่ได้ว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นสิ่งไม่มีเจ้าของและตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคำว่า “สิ่งใด ๆ อันจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้” ตามกฎหมายดังกล่าวนั้นหมายถึงสิ่งที่หลีกเลี่ยงหรือมิได้เสียภาษีอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นรถที่ผู้นำเข้าเสียภาษีอากรขาเข้าถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว รถยนต์พิพาทจึงไม่เป็นสิ่งอันพึงจะต้องริบและไม่ตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แม้จะเป็นสิ่งที่ถูกเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ยึดไว้ และโจทก์ไม่ไปขอรับคืนเกิน 30 วัน นับแต่วันยึดก็ตาม

ปัญหาต่อไปตามที่จำเลยทั้งสองฎีกามีว่า โจทก์มีสิทธิร้องขอให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์หรือไม่ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์และครอบครองรถยนต์คันพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน มีสิทธิดีกว่าโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิติดตามเอาคืนนั้นศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อฟังข้อเท็จจริงว่า รถยนต์คันพิพาทเป็นรถที่ผู้นำเข้าเสียภาษีอากรขาเข้าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ไม่เป็นสิ่งอันพึงต้องริบและมิได้ตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิใด ๆ ในรถยนต์คันพิพาท ทั้งการขายรถพิพาทก็มิใช่เป็นการขายทอดตลาด ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 ซื้อรถพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็หามีสิทธิดีกว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ 2 ได้”

พิพากษายืน

Share