คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3084-3086/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่า นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหรือผู้ใดกระทำการใด ๆ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 ถึงมาตรา 123 และการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 41 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มิได้บัญญัติว่าถึงที่สุดผู้ถูกกล่าวหาอาจฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ รวมทั้งการใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 41 หากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมประการใด ศาลย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขให้ถูกต้องและเหมาะสมได้ เมื่อศาลเห็นว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามความเห็นของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้โจทก์รับจำเลยกลับเข้าทำงานศาลย่อมมีอำนาจกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแทนการรับจำเลยกลับเข้าทำงานได้

ย่อยาว

คดีสามสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์สำนวนแรกจำเลยสำนวนที่ 2 และจำเลยสำนวนที่ 3 ว่าโจทก์ เรียกจำเลยสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 13 ตามลำดับ เรียกโจทก์สำนวนที่ 2 ว่า จำเลยที่ 14ถึงจำเลยที่ 26 ตามลำดับ และเรียกโจทก์สำนวนที่ 3 ว่า จำเลยที่ 27 และจำเลยที่ 28 ตามลำดับ

โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการประเภทโรงแรม จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 13 เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 ระหว่างวันที่ 4 – 12 ธันวาคม 2523 ลูกจ้างโจทก์จำนวน 15 คนซึ่งทำงานอยู่ในแผนกอาหาร ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าโจทก์เลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหาย จำเลยได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า ลูกจ้างทั้ง 15 คนเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องและอยู่ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับ ลูกจ้างมิได้กระทำผิดอนุมาตราใดอนุมาตราหนึ่งในมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างทั้ง 15 คน เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม มีคำสั่งให้โจทก์รับลูกจ้างทั้ง 15 คนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมเหมือนไม่มีการเลิกจ้าง โจทก์เห็นว่าคำสั่งจำเลยไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ประกอบกิจการแผนกอาหารไม่ได้รับผลสำเร็จ ขาดทุนตลอดมาโจทก์จึงเลิกแผนกอาหาร จึงจำเป็นต้องเลิกลูกจ้างแผนกอาหารทั้ง 15 คนโจทก์ได้จ่ายค่าทดแทนทุกคนตามกฎหมายแรงงาน การเลิกจ้างของโจทก์ไม่เกี่ยวกับการที่ลูกจ้างเป็นกรรมการสหภาพแรงงานโจทก์มิได้กลั่นแกล้งลูกจ้าง มิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และคำสั่งของจำเลยควรให้โจทก์เลือกปฏิบัติได้ โดยให้โจทก์เลือกจ่ายค่าเสียหายแทนการรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลย หากเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างได้ ขอให้ศาลแก้ไขคำสั่งของจำเลยให้โจทก์เลือกปฏิบัติในการเลือกจ่ายค่าเสียหายให้ในจำนวนที่สมควรและเป็นธรรม

จำเลยให้การว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ถูกต้องแล้วขอให้ยกฟ้อง

โจทก์สำนวนที่ 2 และสำนวนที่ 3 ฟ้องและแก้ไขฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน2523 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทุกคนอ้างว่าประสบการขาดทุน โจทก์ร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้วินิจฉัยว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้จำเลยรับโจทก์ทุกคนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติ ขอให้พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์ทุกคนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเดิมเสมือนมิได้มีการเลิกจ้างกับจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์แต่ละคนด้วย

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิใช่ผู้เสียหาย โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบ เพราะจำเลยเลิกประกอบกิจการในแผนกที่โจทก์ทำงานเนื่องจากจำเลยประสบภาวะขาดทุน

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในสำนวนแรก ให้บริษัทอิทธิผลจำกัด จำเลยในสองสำนวนหลังรับโจทก์ในคดีสองสำนวนหลังกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมเสมือนไม่มีการเลิกจ้างตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คำขออื่นให้ยก

บริษัทอิทธิผล จำกัด โจทก์ จำเลยที่ 14 – 20 และจำเลยที่ 23 – 28อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลแรงงานกลางสั่งรับเฉพาะอุทธรณ์โจทก์ ข้อ 2.3ส่วนข้ออื่นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงจึงไม่รับโจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกายกอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ จำเลยที่ 14 – 20 และ จำเลยที่ 23 – 28

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เห็นว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 จึงมีคำสั่งให้โจทก์จำเลยกลับเข้าทำงาน โจทก์ขอให้ศาลกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยแทนการรับจำเลยกลับเข้าทำงาน เมื่อศาลเห็นว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ศาลจะมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยแทนการรับจำเลยกลับเข้าทำงานได้หรือไม่ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121, 122 และมาตรา 123 บัญญัติห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหรือบุคคลผู้ใดกระทำการใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตราดังกล่าว ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม เมื่อมีการฝ่าฝืนมาตรา 121, 122 หรือมาตรา 123 ผู้เสียหายเนื่องจากการฝ่าฝืนอาจยื่นคำร้องกล่าวหาผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืนเมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้รับคำร้องกล่าวหา ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องกล่าวหาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 124 และมาตรา 125คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 41 ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้(4) วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องตามมาตรา 124 และในกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่า เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหายหรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นควร เห็นว่าการที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่า นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหรือผู้ใดกระทำการใด ๆ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121ถึงมาตรา 123 และการใช้อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 41 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มิได้บัญญัติว่าถึงที่สุดผู้ถูกกล่าวหาอาจฟ้องต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้รวมทั้งการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 41 หากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมประการใด ศาลย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขให้ถูกต้องและเหมาะสมได้ เมื่อศาลเห็นว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามความเห็นของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้โจทก์รับจำเลยกลับเข้าทำงานศาลย่อมมีอำนาจกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแทนการรับจำเลยกลับเข้าทำงานได้ อุทธรณ์ของบริษัทอิทธิผล จำกัด โจทก์ฟังขึ้น การกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวศาลจะกำหนดให้หรือไม่กำหนดให้ หากกำหนดให้ควรเป็นเท่าใด ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัย

พิพากษาแก้เป็นให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางบางส่วนเฉพาะเรื่องการกำหนดค่าเสียหาย ให้โจทก์จ่ายให้จำเลยแทนการรับจำเลยกลับเข้าทำงาน ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาใหม่ในประเด็นข้อนี้

Share