คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1831/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่ที่จะนำสืบพิศูจน์ความผิดของจำเลย แต่ความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 203(3) นั้น แยกเป็นสองฐาน คือฐานจำหน่ายธนบัตรปลอมโดยรู้และฐานมีไว้เพื่อจำหน่าย ความผิดฐานแรกโจทก์ต้องนำสืบถึงการจำหน่ายด้วย ความผิดฐานหลังนำสืบแต่เพียงว่ามีไว้เพื่อจะจำหน่ายก็เป็นความผิดได้แล้ว
การจะวินิจฉัยว่ามีธนบัตรปลอมไว้เพื่อจะจำหน่ายหรือเพื่ออย่างใดนั้นต้องประมวลพฤติการณ์ทั้งหลายที่ปรากฎในสำนวนประกอบแล้ววินิจฉัยเป็นเรื่อง ๆ ไป พฤติการณ์ที่จำเลยแสดงตนเป็นพระภิกษุแต่ใบสุทธิเป็นที่สงสัย ทำตนเป็นคนหากินทางขายเครื่องรางในวัด เจ้าอาวาสในวัดห้ามไม่ฟัง มีธนบัตรปลอมชนิดฉบับละ 100 บาท 7 ฉบับในตัว ห่อไว้ต่างหากแยกจากห่อธนบัตรดี ดังนี้เป็นการเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอมและมีไว้เพื่อจำหน่าย

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีธนบัตรปลอมชนิดราคาใบละ ๑๐๐ บาท ๗ ฉบับ โดยรู้อยู่ว่าเป็นธนบัตรปลอมไว้ในกรรมสิทธิ์ความครอบครองเพื่อจำหน่าย ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๒๐๓(๓) ,๒๐๗,๒๐๙
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๐๓(๓) แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๖ พ.ศ.๒๔๗๕ ให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด ๑๐ ปี ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีไว้เพื่อจะจำหน่ายหรือเพื่อจะกระทำอย่างไรต่อไป โจทก์นำสืบไม่ได้ทั้งพฤติการณ์อันใดที่จะทำให้สันนิษฐานได้ว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายแล้วก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์ ของกลางคงริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยความเห็นศาลอุทธรณ์ว่าในคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องนำพิศูจน์ความผิดของจำเลย แต่โดยฉะเพาะความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๐๓(๓) นี้ จำแนกความผิดออกเป็นสองฐานคือฐานจำหน่ายธนบัตรปลอมโดยรู้ กับฐานมีธนบัตรดังกล่าวนั้นไว้เพื่อจะจำหน่าย ความผิดฐานหลังนำสืบเพียงว่ามีไว้เพื่อจำหน่ายก็เป็นความผิดได้แล้ว การมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อจะจำหน่ายหรือจะทำอะไรนั้นยากที่คนภายนอกจะรู้ถึงจิตต์ใจและความนึกคิดของบุคคลผู้นั้นโดยถ่องแท้ได้ นอกจากจะประมวลพฤติการณ์ทั้งหลายที่ปรากฎในท้องสำนวนประกอบกันเป็นเรื่อง ๆ ไป
คดีนี้จำเลยแสดงตนเป็นพระภิกษุ แต่ใบสุทธิประจำตัวบกพร่องเป็นที่น่าสงสัย ได้ทำตนเป็นคนหากินทางขายพระเครื่องรางในวัดเจ้าอาวาสในวัดนั้นห้ามแล้วไม่เชื่อ จำเลยมีธนบัตรปลอมชนิดฉบับละ ๑๐๐ บาทถึง ๗ ฉบับในตัว ห่อไว้ต่างหากแยกคนละห่อกับธนบัตรดีพาเข้าไปในงานและพยายามจะทำการค้าขายพระด้วยดังนี้ เห็นว่าเป็นการเพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่า จำเลยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอมและมีไว้เพื่อจะจำหน่าย เมื่อจำเลยสืบหักล้างไม่ได้ก็ต้องมีผิด
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share