คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2945/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องถึงข้ออ้างที่ทำให้การที่จำเลยนำหุ้น ของโจทก์ออกขายเป็นการไม่ชอบไว้ 2 ประการคือจำเลยบังอาจขายหุ้นของโจทก์ให้แก่บริษัทในเครือของจำเลยไปโดยพลการ ไม่ได้รับความยินยอมและอนุญาตจากโจทก์ประการหนึ่ง และนำหุ้นของโจทก์ที่จำนำไว้แก่จำเลยออกขายโดยไม่แจ้งบังคับจำนำเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบก่อนไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 764 การขายจึงเป็นโมฆะอีกประการหนึ่ง เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์มิได้จำนำหุ้นไว้แก่จำเลย การที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมิได้อธิบายให้กระจ่างเพื่อให้โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยนำหุ้นของโจทก์ไปจำนำไว้แก่จำเลยแล้ว จำเลยนำหุ้นของโจทก์ออกขายเป็นการไม่ชอบจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จะยกขึ้นฎีกามิได้
คำขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เอกสารหมาย ล.1 ตอนต้นมีความว่าโจทก์ตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ เพื่อซื้อหลักทรัพย์ต่างๆ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเพื่อจัดการขายหลักทรัพย์แทนโจทก์ในการทำการดังกล่าวนี้ให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ทางโทรศัพท์หรือทางหนังสือ ซึ่งจะแจ้งหรือส่งให้เป็นคราวๆ แต่ความในหน้า 2 วรรคสามตอนท้ายมีว่า ‘…………… และในกรณีที่ข้าพเจ้า / เราไม่ชำระเงินให้ท่านภายในระยะเวลาที่ท่านกำหนดหรือข้าพเจ้า / เราไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นให้ครบถึงร้อยละ 30 ตามเงื่อนไขในวรรคก่อน ข้าพเจ้า /เรายินยอมให้ท่านปิดบัญชีได้ทันทีและยอมให้ท่านนำหลักทรัพย์ทั้งหลายของข้าพเจ้า / เราที่ท่านซื้อไว้แทนออกขายในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเอาเงินสุทธิที่ได้มาชำระหนี้ที่ค้างอยู่ ………..’ ดังนี้ การขายหุ้นของโจทก์ตามข้อความในหน้า 2 วรรคสามตอนท้ายของเอกสารหมาย ล.1 เป็นกรณีที่จำเลยกระทำได้เองตามอำนาจในสัญญาหาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ดังกรณีในหน้า 1 ตอนต้นอันเป็นเรื่องกระทำแทนไม่
แม้เมื่อจำเลยขายหุ้นของโจทก์ไปแล้วได้แจ้งให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือมีข้อความว่าถ้าหากจำเลยไม่ได้รับการคัดค้านจากโจทก์ภายใน 3 วัน จำเลยจะถือว่ารายการที่แจ้งไปยังโจทก์ถูกต้องสมบูรณ์ก็ตาม แต่มิได้หมายความว่า หากโจทก์คัดค้านแล้วต้องถือว่ารายการที่แจ้งไปยังโจทก์ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ การที่โจทก์ได้แจ้งคัดค้านไปยังจำเลยภายในกำหนดว่าจำเลยไม่มีสิทธินำหุ้นของโจทก์ออกขายจึงหามีผลในการกระทำของจำเลยซึ่งชอบอยู่แล้วกลับกลายเป็นไม่ชอบไปไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์นำตั๋วแลกเงินรวม 4 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น 390,000บาท มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 10 เศษ 3 ส่วน 4 ต่อปี ให้จำเลยยึดถือไว้เป็นการค้ำประกันการซื้อหุ้นของโจทก์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อมาโจทก์ซื้อหุ้นของบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด และบริษัทสยามเครดิต จำกัด ผ่านจำเลยหลายครั้งรวมซื้อหุ้นของบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด 1,600 หุ้น เป็นเงิน381,500 บาท ซื้อหุ้นบริษัทสยามเครดิต จำกัด 1,500 หุ้น เป็นเงิน 235,572บาท โจทก์ได้มอบหุ้นทั้งหมดของโจทก์ให้จำเลยยึดถือไว้ และชำระดอกเบี้ยให้จำเลยตลอดมา เมื่อตั๋วแลกเงินทั้ง 4 ฉบับของโจทก์ถึงกำหนดชำระเงิน จำเลยให้โจทก์ลงชื่อในใบโอนตามแบบพิมพ์ของจำเลยให้จำเลยเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินทั้งสี่ฉบับ พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 431,700 บาทไปชำระค่าหุ้นของโจทก์จำนวน 2,500 หุ้น ที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่ เมื่อโจทก์ชำระค่าหุ้นแล้วจะจัดการใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดและเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลย 229,322 บาท 10 สตางค์ จำเลยยินยอมให้โจทก์กู้ต่อโดยนำหุ้นจำนวน 2,500 หุ้น ที่มีชื่อโจทก์จำนำไว้แก่จำเลย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ14 ต่อปี และโจทก์ชำระเงินกู้ให้จำเลยตลอดมา ครั้นวันที่ 29 มกราคม 2523จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ให้นำหลักทรัพย์จำนวน 78,892 บาท 10 สตางค์ ไปวางเพิ่มประกันหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยภายในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2523 อีก แต่โจทก์เห็นว่ามูลค่าหุ้น 2,500 หุ้นของโจทก์ที่จำนำไว้แก่จำเลยยังคุ้มกับเงินกู้ของจำเลยอยู่ จึงไม่ยอมนำหลักทรัพย์ไปวางเพิ่ม ต่อมาวันที่ 5, 6 และวันที่ 7กุมภาพันธ์ 2523 จำเลยบังอาจขายหุ้นบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด ของโจทก์1,300 หุ้น และ ขายหุ้นบริษัทสยามเครดิต จำกัด ของโจทก์ 1,200 หุ้น ให้แก่บริษัทในเครือของจำเลยไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ เป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 252,945 บาท ขาดเงินปันผลประจำปี 2522 จากหุ้นจำนวน 2,500 หุ้น เป็นเงิน 23,700 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์เสียหายทั้งสิ้น276,645 บาท โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยให้ระงับการขายที่ไม่ชอบนั้นเสียกับให้จำเลยจัดการนำหุ้นของโจทก์กลับคืนสู่สภาพเดิม จำเลยเพิกเฉย การที่จำเลยนำหุ้นของโจทก์ที่จำนำแก่จำเลยออกขายโดยพลการและไม่แจ้งการบังคับจำนำเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบก่อนไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 764 การขายเป็นโมฆะ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน276,645 บาท พร้อมกับค่าเสียหายเท่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นลูกค้าเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ไว้แก่จำเลยกับมอบให้จำเลยซื้อขายหลักทรัพย์ จ่ายเงิน รับเงินชำระหนี้แทนโจทก์สัญญาเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีเงื่อนไขกำหนดไว้ตอนหนึ่งว่าจำนวนหนี้สินที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยจากการซื้อขายหลักทรัพย์จะต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 75 ของราคาหลักทรัพย์ที่มีอยู่ในบัญชีโจทก์ เพื่อรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อหลักทรัพย์ไว้ไม่ให้สูงกว่าร้อยละ75 ถ้าโจทก์ไม่ชำระเงินหรือส่งมอบหลักทรัพย์ให้แก่จำเลย ยอมให้จำเลยขายหลักทรัพย์ของโจทก์และปิดบัญชีได้ โจทก์เป็นหนี้การซื้อขายหลักทรัพย์แก่จำเลยเป็นเงิน 229,322 บาท 10 สตางค์ โดยโจทก์มีหุ้นบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัดและหุ้นบริษัทสยามเครดิต จำกัด รวมกันจำนวน 2,500 หุ้นอยู่ในบัญชี แต่มิได้จำนำเป็นประกันไว้แก่จำเลย จำเลยขายหุ้นของโจทก์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่ต้องดำเนินการบังคับจำนำเพราะไม่มีการจำนำ จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามการขายหุ้นจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยขายหุ้นจำนวน 2,500 หุ้นได้เงินสุทธิจำนวน 219,341 บาท 43 สตางค์ เมื่อหักชำระหนี้แล้วโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยอยู่อีก 27,701 บาท 10 สตางค์ ซึ่งโจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ14 ต่อปี คิดเพียง 2 เดือนเป็นเงิน 1,402 บาท 55 สตางค์ รวมแล้วเป็นเงิน29,109 บาท 65 สตางค์ ขอให้ยกฟ้องกับให้โจทก์ชำระหนี้ 29,109 บาท 65สตางค์แก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีในต้นเงิน 27,701 บาท 10 สตางค์ นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ

ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้ง แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยนำหุ้นจำนวน 2,500หุ้นของโจทก์ออกขายนอกเหนือคำสั่งของโจทก์ เป็นกากระทำโดยจงใจละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย 15,552 บาท 65 สตางค์ พิพากษาให้จำเลยชดใช้เงิน 15,552 บาท 65 สตางค์แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเต็มตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยขายหุ้นของโจทก์ไปโดยชอบไม่ต้องรับผิดพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาในชั้นนี้ว่าจำเลยนำหุ้นของโจทก์ออกขายเป็นการไม่ชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาอ้างเหตุประการแรกที่ทำให้การที่จำเลยนำหุ้นของโจทก์ออกขายเป็นการไม่ชอบว่า โจทก์มีเจตนาที่แท้จริงให้จำเลยนำหุ้นของโจทก์จำนวน 2,500 หุ้น จำนำไว้แก่จำเลย มิใช่ให้ยึดหน่วงไว้เพื่อประกัน แต่จำเลยมิได้อธิบายให้กระจ่าง ทั้งนี้เพื่อให้โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยได้นำหุ้นจำนวน 2,500หุ้น ของโจทก์จำนำไว้แก่จำเลยแล้ว ข้อนี้เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงข้ออ้างที่ทำให้การที่จำเลยนำหุ้นของโจทก์ออกขายเป็นการไม่ชอบไว้ 2 ประการ คือ จำเลยบังอาจขายหุ้นของโจทก์ให้แก่บริษัทในเครือของจำเลยไปโดยพลการ ไม่ได้รับความยินยอมและอนุญาตจากโจทก์ประการหนึ่ง และนำหุ้นของโจทก์ที่จำนำไว้แก่จำเลยออกขายโดยไม่แจ้งบังคับจำนำเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบก่อน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 764 การขายจึงเป็นโมฆะ อีกประการหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์มิได้จำนำหุ้นไว้แก่จำเลยการที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมิได้อธิบายให้กระจ่าง เพื่อให้โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยนำหุ้นของโจทก์ไปจำนำไว้แก่จำเลยแล้ว จำเลยนำหุ้นของโจทก์ออกขายเป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จะยกขึ้นฎีกามิได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ในการที่โจทก์ทำคำขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับจำเลยโจทก์มีเจตนาเพียงแต่ตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ต่าง ๆ โดยในการทำการดังกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ ทางโทรศัพท์หรือทางหนังสือ การที่จำเลยทำการขายหุ้นของโจทก์โดยพลการนอกเหนือคำสั่งของโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งเมื่อโจทก์ได้แจ้งคัดค้านการขายหุ้นภายในระยะเวลาที่จำเลยกำหนดให้คัดค้านแล้ว จำเลยจึงต้องนำหุ้นมาคืนให้โจทก์ พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีอาชีพเป็นทนายความ เป็นหัวหน้าสำนักงานทนายความ ภายหลังจากโจทก์ทำคำขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เอกสารหมาย ล.1 ไว้แก่จำเลยแล้วโจทก์ได้นำตั๋วแลกเงินมาจำนำเป็นหลักประกันไว้แก่จำเลย มีคำสั่งให้จำเลยซื้อหุ้น ชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินที่จำเลยออกแทนไป โอนเงินตามตั๋วแลกเงินชำระหนี้ให้แก่จำเลย เป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในคำขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ตามเอกสารหมาย ล.1 ตลอดมา เชื่อว่าโจทก์เข้าใจและมีเจตนาแท้จริงที่จะผูกพันตามข้อความในคำขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ฉบับนั้น จริงอยู่เอกสารหมาย ล.1 หน้า 1 ตอนต้น มีความว่าโจทก์ตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์เพื่อซื้อหลักทรัพย์ต่าง ๆ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเพื่อจัดการขายหลักทรัพย์แทนโจทก์ ในการทำการดังกล่าวนี้ให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ทางโทรศัพท์หรือทางหนังสือซึ่งจะแจ้งหรือส่งให้เป็นคราว ๆ แต่ความในหน้า 2 วรรคสาม ตอนท้ายมีว่า “และในกรณีที่ข้าพเจ้า/เราไม่ชำระเงินให้ท่านภายในระยะเวลาที่ท่านกำหนด หรือข้าพเจ้า/เราไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นให้ครบถึงร้อยละ 30 ตามเงื่อนไขในวรรคก่อน ข้าพเจ้า/เรายินยอมให้ท่านปิดบัญชีได้ทันที และยอมให้ท่านนำหลักทรัพย์ทั้งหลายของข้าพเจ้า/เราที่ท่านซื้อไว้แทน ออกขายในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเอาเงินสุทธิที่ได้มาชำระหนี้ที่ค้างอยู่” เห็นได้ว่า การขายหุ้นของโจทก์ตามข้อความในหน้า 2 วรรคสามตอนท้ายของเอกสารหมาย ล.1 เป็นกรณีที่จำเลยกระทำได้เองตามอำนาจในสัญญาเพื่อบังคับเอาเงินชำระหนี้แก่จำเลย จำเลยหาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ดังกรณีในหน้า 1 ตอนต้นอันเป็นเรื่องกระทำแทนไม่ ได้ความว่าจำเลยมีหนังสือไปยังโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.21 แจ้งว่า บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของโจทก์ในวันที่ 29 มกราคม 2523 มียอดเงินกู้ 229,322 บาท10 สตางค์ คิดเป็นอัตราร้อยละ 101.97 ของราคาหลักทรัพย์คือหุ้นที่ค้ำประกันอยู่ ขอให้โจทก์นำหลักทรัพย์เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 71,892 บาท 10 สตางค์ไปค้ำประกันเพิ่มหรือนำเงินไปชำระเพื่อลดยอดเงินกู้ให้อัตราดังกล่าวลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 70 พร้อมทั้งให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระจำนวน 14,666บาท 72 สตางค์ ทั้งนี้ภายในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2523 มิฉะนั้นจำเลยจะนำหุ้นของโจทก์ออกขายในตลาดหลักทรัพย์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้อัตราดังกล่าวลดลงต่ำกว่าร้อยละ 70 ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียงยอดหนี้เงินกู้จำนวนดอกเบี้ยที่ค้างชำระหรืออัตราร้อยละของยอดหนี้เงินกู้ต่อราคาหลักทรัพย์แต่อย่างใด เชื่อว่าเป็นความจริงตามที่แสดงในเอกสารหมาย จ.21 เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหนังสือนั้น จำเลยจึงมีสิทธินำหุ้นของโจทก์ออกขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมหรือต้องทำตามคำสั่งของโจทก์แม้เมื่อจำเลยได้ขายหุ้นของโจทก์ไปแล้วจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.24 มีข้อความว่า ถ้าหากจำเลยไม่ได้รับการคัดค้านจากโจทก์ภายใน 3 วัน จำเลยจะถือว่ารายการที่แจ้งไปยังโจทก์ถูกต้องสมบูรณ์ก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าหากโจทก์คัดค้านแล้วต้องถือว่ารายการที่แจ้งไปไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ฉะนั้นการที่โจทก์ได้แจ้งคัดค้านไปยังจำเลยภายในกำหนดว่าจำเลยไม่มีสิทธินำหุ้นของโจทก์ออกขาย จึงหามีผลให้การกระทำของจำเลยซึ่งชอบอยู่แล้วกลับกลายเป็นไม่ชอบไปไม่

พิพากษายืน

Share