คำวินิจฉัยที่ 81/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

สัญญาที่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จำเลย ว่าจ้างโจทก์ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานธุรการทั่วไป เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุประสงค์เป็นการให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตามอำนาจหน้าที่ของจำเลย ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนเพื่อให้บริการสาธารณะบรรลุผล ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมายเอกชน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๑/๒๕๕๙

วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.
๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแรงงานกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานกลางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘ นางสาววรินทิพย์ วิเศษโพธิ์ศรี โจทก์ ยื่นฟ้องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเลย ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๒๗/๒๕๕๘ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ข้อบังคับของจำเลย จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานธุรการทั่วไป ตำแหน่งสุดท้ายเลขานุการประจำ Sasin Institute for Global Affairs (SIGA) ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๑,๐๐๐ บาท ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ จำเลยให้โจทก์เขียนใบลาออกโดยอ้างว่าหน่วย SIGA จะปิดตัวลงและให้มีผลในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ โดยโจทก์ไม่ได้สมัครใจลาออก จึงถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและโจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยอีกต่อไป ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน ๗๕๖,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์สมัครใจลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลย โดยจำเลยไม่ได้บังคับขู่เข็ญหรือกระทำการอันไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ภายหลังจากโจทก์ยื่นใบลาออกแล้ว โจทก์ไม่เคยทำหนังสือขอยกเลิกการลาออกหรือขอใช้สิทธิอุทธรณ์ตามข้อบังคับของจำเลยหรือมีพฤติการณ์ใด ๆ ที่ทำให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้รับความเป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยจะเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว เป็นกรณีที่จำเลยจ้างโจทก์ให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานโดยจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานจึงเป็นความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างอันเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายแพ่ง สัญญาจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้กระทำความผิดและเป็นการเลิกจ้าง ที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) และมาตรา ๔๙ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ส่วนที่พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๒ บัญญัติให้กิจการของจำเลยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงงานสัมพันธ์นั้น บทบัญญัติดังกล่าวเพียงแต่กำหนดว่าการจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายแรงงานทั่วไปเท่านั้น ไม่ได้มีผลทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่เป็นการจ้างแรงงานแต่อย่างใด และที่พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๑ (๓) ให้อำนาจจำเลยในการออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยซึ่งข้อบังคับดังกล่าวมีการกำหนดขั้นตอนการประเมินผลการปฏิบัติงาน การจ้างงาน การอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะแตกต่างจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์นั้น ไม่ใช่เกณฑ์การพิจารณาเขตอำนาจศาล ประกอบกับการพิจารณาว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ ต้องพิจารณาเนื้อหาของนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนเป็นสำคัญ เมื่อข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยมีลักษณะเป็นข้อสัญญาที่บัญญัติเป็นการทั่วไปในสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการจ้างแรงงาน ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองและไม่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แต่อย่างใด

ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์เป็นหน่วยงานในสังกัดของจำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานธุรการทั่วไป เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ โดยจำเลยตกลงจะว่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ และเริ่มการจ้างงานตามสัญญาเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๒ เมื่อสัญญาดังกล่าว เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง อันได้แก่ จำเลยในคดีนี้เป็นหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งมีภารกิจในการให้บริการทางการศึกษาตามมาตรา ๔ มาตรา ๕ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบข้อ ๗ ของข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นการให้บริการสาธารณะด้านการศึกษา สัญญาที่จำเลยว่าจ้างให้โจทก์เป็นพนักงานธุรการทั่วไปและตำแหน่งสุดท้ายเป็นเลขานุการประจำ Sasin Institute for Global Affairs (SIGA) จึงเป็นสัญญาที่มีลักษณะเป็นการให้โจทก์เข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และตามนัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๕๖/๒๕๕๔ เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม และเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ก็ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยอีก จึงฟ้องเรียกค่าเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย เนื่องจากเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด และไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่า โจทก์สมัครใจลาออก โดยจำเลยไม่ได้บังคับขู่เข็ญหรือกระทำการอันไม่เป็นธรรม และโจทก์ไม่เคยทำหนังสือขอยกเลิกการลาออกหรือขอใช้สิทธิอุทธรณ์ หรือมีพฤติการณ์ใด ๆ ที่ทำให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้รับความเป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย พร้อมทั้งโต้แย้งว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง กรณีมีปัญหาต้องพิจารณาว่า สัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานธุรการทั่วไปในหน่วยงานของจำเลย เป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ข้อเท็จจริงคดีนี้จำเลยเป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมาย ว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันระบุวัตถุประสงค์ของจำเลยที่จะบุกเบิก แสวงหาและเป็นคลังความรู้ ให้การศึกษา ส่งเสริม ประยุกต์และพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง สร้างบัณฑิต วิจัย เป็นแหล่งรวมสติ ปัญญา และบริการทางวิชาการแก่สังคม รวมทั้งสืบสานทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ ด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อสัญญาพิพาทในคดีนี้เป็นสัญญาที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานธุรการทั่วไปของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งของจำเลย มีภารกิจในการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาชั้นนำในต่างประเทศเพื่อให้การจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านการบริหารธุรกิจและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเป็นไปในระดับนานาชาติ การพัฒนาวิชาการ การวิจัย และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการ การบริการทางวิจัย และการให้คำปรึกษาด้านบริหารธุรกิจแก่สังคม ปรากฏตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยจำเลยทำหน้าที่ในตำแหน่งเลขานุการประจำ Sasin Institute for Global Affairs ซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายปฏิบัติการ กลุ่มบริหารจัดการ ตามข้อ ๓๘ (๖) ของข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๑ และมีหน้าที่ในการร่วมจัดทำภารกิจของจำเลย นอกจากนี้ ข้อบังคับดังกล่าวอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๓) และมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัยไว้เป็นการเฉพาะ รวมถึงกรณีการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการไม่ต่อสัญญาปฏิบัติงาน หรือการเลิกสัญญาปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดระบบการบริหารงานบุคลากรภาครัฐอันเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนออกจากการบริหารงานบุคคลภาคเอกชน ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุผลภารกิจของหน่วยงานทางปกครองในเรื่องการบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นการให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตามอำนาจหน้าที่ของจำเลย ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนเพื่อให้บริการสาธารณะบรรลุผล ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมายเอกชน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสาววรินทิพย์ วิเศษโพธิ์ศรี โจทก์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share