คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1691/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หลังจากผ่านการตรวจค้นหาวัตถุระเบิดและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าอากาศยานกรุงเทพ อันเป็นการตรวจขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะขึ้นเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจค้นพบเฮโรอีนของกลางบรรจุถุงพลาสติก 1 ถุง ซ่อนอยู่ในรองเท้าของจำเลย ส่อเจตนาที่จะนำของกลางออกนอกราชอาณาจักร จำเลยลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอดจึงมีความผิดฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งเฮโรอีน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 26, 65 วรรคหนึ่ง, 67,75, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91 ลงโทษฐานนำยางกัญชาเข้ามาในราชอาณาจักร ตาม มาตรา 75 จำคุก 1 ปี ลงโทษฐานพยายามส่งออกซึ่งเฮโรอีน ตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 53 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าก่อนวันเกิดเหตุ 2-3 วัน จำเลยได้เดินทางจากประเทศเนปาลเข้ามาประเทศไทย โดยทางเครื่องบินและได้นำยางกัญชาตามฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เข้ามาด้วย วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 11 นาฬิกาเศษ ขณะที่จำเลยรอขึ้นเครื่องบินโดยสารของบริษัทสายการบินอียิปต์แอร์ จำกัด เที่ยวบินที่ เอ็ม เอส 864 เพื่อเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ห้องผู้โดยสารขาออกประตูขาออกหมายเลข 6 ของท่าอากาศยานกรุงเทพ เจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำหน่วยปราบปรามยาเสพติดให้โทษสงสัยว่าจำเลยจะลักลอบนำยาเสพติดให้โทษออกนอกราชอาณาจักร จึงตรวจค้นตัวจำเลยพบยางกัญชาแท่งและยางกัญชาที่บรรจุขวดอีกสามขวดในถุงพลาสติกที่จำเลยถืออยู่และพบยางกัญชาบรรจุถุงพลาสติก 1 ถุง ซ่อนอยู่ในรองเท้าข้างซ้ายของจำเลยกับพบเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ของกลางบรรจุถุงพลาสติก1 ถุง ซ่อนอยู่ในรองเท้าข้างขวาของจำเลย จึงดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นคดีนี้สำหรับข้อหาความผิดฐานนำยางกัญชาของกลางเข้ามาในราชอาณาจักร รวมทั้งข้อหาความผิดฐานมียางกัญชาและมีเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ตามฟ้องอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท5 และประเภท 1 ไว้ในความครอบครองและฐานพยายามนำยางกัญชาของกลางออกนอกราชอาณาจักร จำเลยให้การรับสารภาพ จึงเป็นอันยุตินอกจากนี้ข้อหาความผิดฐานนำเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ของกลางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพยานโจทก์รับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา จึงเป็นอันยุติเช่นเดียวกัน คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลย เฉพาะในข้อที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามส่งออกซึ่งเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ของกลางอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ดังฟ้องโจทก์หรือไม่

จำเลยนำสืบว่า จำเลยตั้งใจจะนำเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ของกลางไปเสพในห้องน้ำของท่าอากาศยานกรุงเทพ แต่ไม่มีโอกาสเพราะคนพลุกพล่านจึงตั้งใจจะเอาไว้ไปเสพบนเครื่องบิน จำเลยไม่คิดที่จะนำเอาเฮโรอีนดังกล่าวไปยังประเทศญี่ปุ่น

ปัญหาที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามส่งออกซึ่งเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ของกลางอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของนายวิม แสงศรีเจ้าหน้าที่ศุลกากรหน่วยปราบปรามยาเสพติดให้โทษประจำท่าอากาศยานกรุงเทพพยานโจทก์ว่า ทำการตรวจค้นพบของกลางและจับกุมจำเลยในขณะที่จำเลยกำลังยืนรอขึ้นเครื่องบินเที่ยวที่จะออกในอีกครึ่งชั่วโมงต่อมาอยู่ในห้องผู้โดยสารขาออกหลังจากผ่านการตรวจค้นหาวัตถุระเบิดและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าอากาศยานอันเป็นการตรวจขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะขึ้นเครื่องบิน พบเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ของกลางบรรจุถุงพลาสติก 1 ถุงซ่อนอยู่ในรองเท้าข้างขวาของจำเลย เป็นการส่อให้เห็นเจตนาของจำเลยในอันที่จะนำเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ของกลางออกนอกราชอาณาจักร จำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอดเนื่องจากเจ้าพนักงานตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยเสียก่อน จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามส่งออกซึ่งเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ของกลางซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท1 ดังฟ้องโจทก์ ที่จำเลยอ้างว่าตั้งใจจะนำเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ของกลางไปเสพในห้องน้ำของท่าอากาศยานกรุงเทพแต่ไม่มีโอกาสเพราะคนพลุกพล่านไม่เป็นเหตุที่จะทำให้จำเลยพ้นจากความผิด จำเลยพยายามนำเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ของกลางอันเป็นจำนวนเดียวกันกับที่จำเลยมีไว้ในความครอบครองออกนอกราชอาณาจักร แม้เฮโรอีนดังกล่าวมีปริมาณเพียงเล็กน้อยและเป็นการมีไว้เพื่อบำบัดความต้องการของจำเลย ก็เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67และมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 อันเป็นบทหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นความผิดเฉพาะตามมาตรา 67 ดังข้อฎีกาของจำเลย ส่วนฎีกาจำเลยที่อ้างว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำไว้อาจลงโทษต่ำกว่าโทษจำคุกตลอดชีวิตได้นั้น เห็นว่า ความผิดฐานส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามบทกฎหมายดังกล่าวผู้กระทำผิดต้องระวางโทษสถานเดียวคือจำคุกตลอดชีวิต จะลงโทษสถานอื่นที่เบากว่านี้หาได้ไม่เพราะมิใช่โทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายจำเลยพยายามกระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 จึงต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษจำคุกตลอดชีวิตอันเป็นโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นโดยเฉพาะ เมื่อเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุกห้าสิบปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 53 ระวางโทษสองในสามส่วน จึงเป็นจำคุกจำเลยไว้ 33 ปี 4 เดือนที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share