คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1524 เป็นบทบัญญัติวิธีการพิสูจน์ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายอันสืบเนื่องมาจากมาตรา 1519 อันเป็นบทบัญญัติสำหรับเด็กที่เกิดในสมรสซึ่งกฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรของชายผู้เป็นสามีเหตุนี้ ถ้ามีข้ออ้างว่าผู้ใดเป็นบุตรของหญิงชายซึ่งสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็พิสูจน์ได้โดยวิธีการตามมาตรา 1524 ส่วนบุตรนอกกฎหมายที่บิดามารดามิได้สมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก็โดยบทบัญญัติมาตรา 1526 ต่อไปหาใช่ว่าพฤติการณ์ตามมาตรา 1524 เป็นวิธีการรับรองบุตรนอกสมรสให้เป็น บุตรชอบด้วยกฎหมายขึ้นมานอกเหนือไปจากมาตรา 1526 อีกไม่
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สืบพยานเฉพาะข้อโต้เถียงในเรื่องทรัพย์สินข้อเดียว จำเลยหาได้โต้แย้งว่ามีประเด็นอื่นที่ต้องสืบพยาน อีกไม่ ในที่สุดก็แถลงไม่สืบพยาน จำเลยจะมาเถียงว่าศาลมีคำสั่ง ตัดประเด็นข้อที่จะนำสืบว่าไม่ถูกต้องในชั้นฎีกาย่อมไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 เพราะคำสั่งศาลชั้นต้นเช่นนี้ไม่ใช่คำสั่งตามมาตรา 227, 228

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์อยู่กินกับจำเลยที่ 1 บุตรจำเลยที่ 2 ฉันสามีภริยาไม่จดทะเบียนสมรส มีบุตร คือ เด็กชายปรีชา เด็กหญิงเพ็ญศรี เด็กชายวิเชียร มีทรัพย์ส่วนตัวตามบัญชีท้ายฟ้อง 9,500 บาท บัดนี้โจทก์แยกกับจำเลยที่ 1 โจทก์จะขนทรัพย์ส่วนตัวและรับเด็กชายปรีชาไปจำเลยทั้งสองขัดขวางกักตัวเด็กชายปรีชาไว้ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองคืนตัวเด็กชายปรีชาแก่โจทก์ และคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สิน

จำเลยทั้งสองให้การว่า การแต่งงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถูกต้องตามประเพณีและกฎหมายจีน ไม่ต้องจดทะเบียน เด็กจึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 และได้ตกลงกันให้เด็กชายปรีชาอยู่กับจำเลยที่ 1 โดยความเต็มใจของบุตรด้วย จำเลยที่ 2 มิได้ขัดขวางกักตัวเด็กไว้ ฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาคืนทรัพย์ของจำเลยที่ 1 หรือใช้ราคา 5,650 บาท และให้ส่งเด็กหญิงเพ็ญศรี เด็กชายวิเชียรแก่จำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งตัวเด็กชายปรีชาให้ไปอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 คืนทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ 1, 5, 6, 8 หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน ยกฟ้องแย้ง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1524 ที่จำเลยอ้างขึ้นมาว่าเป็นการรับรองบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น มาตรานี้เป็นบทบัญญัติวิธีการพิสูจน์ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายอันสืบเนื่องมาจากมาตรา 1509 อันเป็นบทบัญญัติสำหรับเด็กที่เกิดในสมรส ซึ่งกฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรของชายผู้เป็นสามี เหตุนี้ถ้ามีข้ออ้างว่าผู้ใดเป็นบุตรของหญิงชายซึ่งสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็พิสูจน์ได้โดยวิธีการตามมาตรา 1524 เช่น พิสูจน์จากทะเบียนคนเกิด หรือถ้าไม่ปรากฏทะเบียน ก็พิสูจน์โดยพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาดังบัญญัติไว้ในวรรค 3 ส่วนบุตรนอกกฎหมายที่บิดามารดามิได้สมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก็โดยบทบัญญัติมาตรา 1526 ต่อไปด้วยการที่บิดามารดาสมรสกันภายหลังบิดาจดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร หาใช่ว่าพฤติการณ์ตามมาตรา 1524 เป็นวิธีการรับรองบุตรนอกสมรสให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายขึ้นมานอกเหนือไปจากมาตรา 1526 อีกไม่

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นไม่สืบพยานว่าโจทก์จำเลยตกลงกันให้เด็กอยู่ในปกครองของจำเลยนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สืบพยานเฉพาะข้อโต้เถียงในเรื่องทรัพย์สินข้อเดียว จำเลยหาได้โต้แย้งว่ามีประเด็นอื่นที่ต้องสืบพยานอีกไม่ แล้วในที่สุดก็แถลงไม่ติดใจสืบพยาน บัดนี้กลับจะมาเถียงว่า ศาลมีคำสั่งตัดประเด็นข้อที่จะนำสืบเสียเองว่าไม่ถูกต้องนั้น จำเลยฎีกา ณ บัดนี้ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 เพราะคำสั่งศาลชั้นต้นเช่นนี้ไม่ใช่คำสั่งตามมาตรา 227, 228 ที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้โดยมิต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share