คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7872/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย ป. ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินราชพัสดุได้ใช้สิทธิในการเช่าปลูกสร้างบ้านพิพาทลงในที่ดินราชพัสดุ บ้านพิพาทจึงไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินราชพัสดุ
การจดทะเบียนการโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุจากบุคคลผู้มีสิทธิไปยังบุคคลอื่นต่อเจ้าหน้าที่ของทางราชการ หาใช่เป็นการจดทะเบียนการให้อสังหาริมทรัพย์ไม่ เพราะการโอนบ้านพิพาทซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์จะต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 456, 525 ประกอบ ป. ที่ดิน มาตรา 71 คือ ไปจดทะเบียนการได้รับการยกให้บ้านพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินตาม ป. ที่ดิน ฉะนั้นการโอนไปซึ่งสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยกให้บ้านพิพาทเพราะยังไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด การยกให้บ้านพิพาทไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลให้บ้านพิพาทโอนตกไปยังผู้รับโอน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๑ และนายถวิล วัฒนา เป็นบุตรนายประสงค์ วัฒนา เจ้ามรดกและนางคำปัน วัฒนา นายถวิลถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกและนางคำปัน นายถวิลสมรสกับนางอำพร วัฒนา มีบุตรด้วยกัน ๔ คน คือ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งมีสิทธิรับมรดกแทนที่นายถวิลนางคำปันและเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้น ก่อนถึงแก่ความตายเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมและมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน บ้านและทรัพย์สินอื่นรวมราคา ๑,๒๑๑,๐๐๐ บาท ตามบัญชีทรัพย์มรดกท้ายฟ้องหมายเลข ๕ ทรัพย์มรดกจึงตกแก่บุตรทั้งสี่คนละ ๑ ส่วน เนื่องจากจำเลยที่ ๑ อาศัยอยู่กับเจ้ามรดกและนางคำปันตั้งแต่ก่อนถึงแก่ความตาย เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันครอบครองทรัพย์มรดกทั้งหมด โจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แบ่งทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์ให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ยอม คงแบ่งให้เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๒๕๒ ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าแบ่งทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข ๕ ให้โจทก์ทั้งสองคนละ ๑ ส่วน ใน ๔ ส่วน เป็นเงินคนละ ๓๐๒,๗๕๐ บาท ถ้าแบ่งไม่ได้ให้นำทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ ๒๖ หมู่ที่ ๓ ซึ่งเป็นบ้านของนายประสงค์ วัฒนา เจ้ามรดกปลูกอยู่ในที่ดินราชพัสดุซึ่งเจ้ามรดกเป็นผู้เช่า ต่อมาเจ้ามรดกยกบ้านรวมทั้งสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุตลอดจนทรัพย์สินต่าง ๆ ในบ้านให้แก่จำเลยที่ ๑ แล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ครอบครองโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๐๔๐ บัญชีเงินฝากของเจ้ามรดก เงินในบัญชีเงินฝากประจำของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาสารภี ทายาทได้แบ่งปันกันแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ส่งมอบทรัพย์อันดับที่ ๒ ที่ ๖ ถึงที่ ๑๔ ที่ ๑๖ และที่ ๑๘ ถึงที่ ๒๐ กับให้จำเลยที่ ๒ ส่งมอบทรัพย์อันดับที่ ๑ ที่ ๒๑ และที่ ๒๒ ตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย จ. ๑๘ ให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาท หากไม่สามารถแบ่งปันกันได้ให้นำทรัพย์มรดกดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน ยกฟ้องจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แบ่งทรัพย์มรดกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ ๑ ส่วน ใน ๔ ส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖ บัญญัติหลักเรื่องส่วนควบว่า ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ นายประสงค์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินราชพัสดุได้ใช้สิทธิในการเช่าปลูกสร้างบ้านพิพาทลงในที่ดินราชพัสดุ ดังนั้น บ้านพิพาทจึงไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินราชพัสดุตามบทกฎหมายดังกล่าว สำหรับการจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ตามคำเบิกความของพยานจำเลยนั้นเป็นการกระทำตามแบบและวิธีการที่ทางราชการกำหนดไว้ให้ทำเกี่ยวกับเรื่องการโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุจากบุคคลผู้มีสิทธิไปยังบุคคลอื่น การจดทะเบียนการโอนสิทธิการเช่าต่อเจ้าหน้าที่ของทางราชการดังกล่าวหาใช่เป็นการจดทะเบียนการให้อสังหาริมทรัพย์ไม่ เพราะการโอนบ้านพิพาทซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ให้หรือผู้รับจะต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๒๕ ประกอบมาตรา ๔๕๖ ทั้งมีประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๗๑ บัญญัติว่า “ให้เจ้าพนักงานที่ดินเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในเขตท้องที่สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินสาขานั้น” ดังนั้น จำเลยที่ ๑ จะต้องไปจดทะเบียนการได้รับการยกให้บ้านพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน หาใช่ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ฉะนั้น การโอนไปซึ่งสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุในกรณีนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยกให้บ้านพิพาทด้วย เพราะยังไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด การยกให้บ้านพิพาทไม่สมบูรณ์จึงไม่มีผลให้บ้านพิพาทโอนตกไปยังจำเลยที่ ๑ ดังที่จำเลยที่ ๑ ฎีกา บ้านพิพาทย่อมเป็นมรดกของนายประสงค์อยู่
พิพากษายืน.

Share