คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1102/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขนแร่ดีบุกเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตเป็นจำนวนเกินกว่า ร้อยละห้า ถือว่าขนแร่ของกลางทั้งหมดโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 110 และถือได้ว่าเป็นการครอบครองแร่ดีบุกของกลางโดยไม่ได้รับอนุญาต ถึงแม้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตขนแร่แต่เมื่อจำเลยเป็นผู้ขนก็เท่ากับว่าจำเลยครอบครองแร่ดีบุกของกลางโดยไม่ได้รับอนุญาตและขนแร่ดีบุกดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตนั่นเองจำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันมีแร่ดีบุก 1,867 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันขนแร่ดีบุกดังกล่าวจำนวนเกินกว่าร้อยละห้าตามใบอนุญาตที่ได้กำหนดไว้ให้ขนแร่ได้เพียง 1,350 กิโลกรัม โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 105, 108,110, 148, 154, 155 พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 มาตรา 31,32, 39, 40 จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับ และเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับ ริบแร่ดีบุกของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้องปรับคนละ 10,000 บาท ริบแร่ดีบุกของกลาง ฯลฯ

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสองขนแร่ 1,867 กิโลกรัม เกินกว่าที่ได้รับอนุญาต 517 กิโลกรัม เป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละห้า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา ถือว่าจำเลยที่ 1 ขนแร่ดีบุก 1,867 กิโลกรัมของกลางโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 110 และการที่จำเลยที่ 1 ขนแร่ดีบุกของกลางไป ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองแร่ดีบุกของกลางโดยไม่ได้รับอนุญาต อนึ่ง บทกฎหมายดังกล่าว มุ่งหมายให้มีการขนแร่ดีบุกจำนวนที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตขนแร่ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนและกฎหมายถือว่าแร่ดีบุกของกลางเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็เท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองแร่ดีบุกของกลางโดยไม่ได้รับอนุญาต และขนแร่ดีบุกของกลางโดยไม่ได้รับอนุญาตนั่นเอง

พิพากษายืน

Share