แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยใช้มีดโต้ฟันผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของจำเลยในเวลากลางคืน 1 ที ทำให้เกิดบาดแผลฉกรรจ์ยาว 6 เซนติเมตร กะโหลกศีรษะใต้บาดแผลแตกเป็นแนวยาวไปตามบาดแผลยาว 5 เซนติเมตร แสดงว่าจำเลยฟันโดยแรงขณะผู้เสียหายเพิ่งโผล่ออกมาจากใต้แคร่ ในสภาพที่ผู้เสียหายซ่อนตัวอยู่ใต้แคร่ซึ่งอยู่ในเขตจำกัด จำเลยอาจจะใช้วิธีการอื่นที่จะสกัดกั้นไม่ให้ผู้เสียหายออกมาและเรียกร้องให้ผู้อื่นมาช่วยจับผู้เสียหายไว้ได้ ทั้งมีทางที่จะสังเกตได้ทันทีว่าผู้โผล่ออกมาเป็นใคร จะเกิดภัยแก่จำเลยเพียงใดหรือไม่ ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหายกะโหลกศีรษะแตกเป็นแนวยาว 5เซนติเมตรแพทย์ลงความเห็นว่ารักษานานกว่า 21 วันหายแต่ได้ความว่าผู้เสียหายรับการรักษาอยู่โรงพยาบาล 6-7 วันแล้วถูกส่งตัวไปสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก 9 วันจึงกลับบ้านไม่ปรากฏว่าหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วต้องไปรับการรักษาที่ใดอีกหรือไม่ แสดงว่าบาดแผลของผู้เสียหายรักษาไม่เกิน 20 วัน จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายถึงสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเตะผู้เสียหาย 1 ครั้ง และใช้มีดโต้ฟันศรีษะผู้เสียหาย 1 ครั้ง โดยมีเจตนาฆ่า จนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัสแต่ไม่ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 ประกอบด้วยมาตรา 69 จำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยกระทำการเพื่อป้องกันพอสมควรแก่เหตุพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายเป็นเด็กเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านจำเลยในเวลากลางคืน จำเลยใช้มีดโต้กว้างประมาณ 3 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ศอก ฟันผู้เสียหาย 1 ที เป็นแผลยาวประมาณ 6เซนติเมตร กะโหลกศีรษะใต้บาดแผลแตกเป็นแนวยาวไปตามบาดแผลยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ถือได้ว่าเป็นแผลฉกรรจ์แสดงว่าจำเลยฟันโดยแรงขณะผู้เสียหายเพิ่งโผล่ออกมาจากใต้แคร่ ในสภาพที่ผู้เสียหายซ่อนตัวอยู่ใต้แคร่ซึ่งอยู่ในเขตจำกัด จำเลยอาจจะใช้วิธีการอื่นที่จะสกัดกั้นไม่ให้ผู้เสียหายออกมาและเรียกร้องให้ผู้อื่นมาช่วยจับผู้เสียหายไว้ แต่กลับใช้มีดโต้ฟันผู้เสียหายโดยแรงในทันทีที่ผู้เสียหายโผล่ออกจากแคร่มา ทั้งที่มีทางสังเกตได้ทันว่าผู้โผล่ออกมาเป็นใคร จะเกิดภัยแก่จำเลยเพียงใดหรือไม่ ดังนี้ เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
ตามความเห็นของแพทย์ในรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ประมาณการรักษาไว้นานกว่า 21 วัน แต่นายแพทย์เบิกความว่าผู้เสียหายรับการรักษาอยู่โรงพยาบาล 3 วันก็ออกไปแล้วไม่กลับมารับการรักษาอีกเลย ผู้เสียหายเบิกความว่ารับการรักษาอยู่โรงพยาบาล 6 – 7 วันแล้วถูกส่งตัวไปสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก9 วันจึงได้กลับบ้าน ไม่ปรากฏว่าหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วต้องไปรับการรักษาที่ใดอีกหรือไม่ แสดงว่าบาดแผลของผู้เสียหายรักษาไม่เกิน 20 วัน จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน ฟังได้ว่าไม่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังนี้การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายเท่านั้น ซึ่งในกรณีเช่นนี้ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ประกอบมาตรา 69 จำคุก 6 เดือน โทษจำคุกรอการลงโทษ 2 ปี