คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในรายงานกระบวนพิจารณามีข้อความว่า คู่ความจะหาทางตกลงปรองดองในระหว่างกันเองก่อน แล้วจะแถลงให้ศาลทราบภายในวันที่ระบุไว้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ หรือไม่แถลงให้ศาลทราบให้ศาลกำหนดเงินจำนวนหนึ่งขึ้นตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อให้เป็นการช่วยเหลือโดยจำเลยตกลงชำระตามที่ศาลกำหนด และโจทก์ก็พอใจตามนั้นไม่ติดใจดำเนินคดีกันต่อไป ข้อตกลงข้างต้นนี้เป็นการสละประเด็นตามฟ้องและตามคำให้การของคู่กรณี โดยต่างสละข้ออ้างข้อเถียงในประเด็นอื่นสิ้นเชิง เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนเงินที่จะให้จำเลยชำระแก่โจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกมัดโจทก์จำเลยดังนั้นคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะมาขอยกเลิกเพิกถอนข้อตกลง โดยจะขอให้สืบพยานต่อไป แล้วให้ศาลพิพากษาไปตามรูปคดีย่อมไม่อาจกระทำได้
แม้ในรายงานกระบวนพิจารณาจะใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ศาลกำหนดว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือโจทก์ และมิได้ระบุเป็นเงินค่าเสียหายก็ตาม แต่ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจกันในระหว่างคู่ความแล้วว่าเป็นจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกร้องมาตามฟ้องนั่นเองข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดไปตามที่คู่ความตกลงกันได้

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยที่ 1 มีเขตติดต่อกันและที่ดินทั้งสองแปลงนี้อยู่ริมคลองมหาชัย โจทก์ได้สร้างโรงสีไฟ สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กทางเขตด้านริมคลองมหาชัย สร้างอาคาร และสร้างสะพานคอนกรีตยื่นออกไปในคลองมหาชัยในที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ตั้งโรงน้ำแข็งในที่ดินของตน ใน พ.ศ. 2504 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันสร้างเขื่อนคอนกรีตทางด้านคลองมหาชัย และได้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นอีกลงในที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยมิได้รับอนุญาตจากเทศบาล ครั้นวันที่ 22 กรกฏาคม 2507 พื้นลาดซิเมนต์ของจำเลยได้เกิดรอยร้าวแยกขึ้น จำเลยทั้งสามจึงให้ลูกจ้างจัดการตอกเข็มลงไปในระหว่างรอยแตกแยกประมาณ 50 ต้น โดยมิได้ปรึกษากับผู้มีความรู้ในทางวิศวกรรมและมิยอมฟังคำห้ามปรามตักเตือนของโจทก์ ครั้นวันรุ่งขึ้นสิ่งปลูกสร้างของจำเลยได้ยุบฟังทลายลงทั้งเขื่อนก็เลื่อนพังออกไปการสั่นสะเทือนเนื่องจากการทรุดตัวของสิ่งปลูกสร้างเบียดไปทางที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้สิ่งก่อสร้างของโจทก์เสียหาย คือ สะพานคอนกรีตพังทลาย เขื่อนคอนกรีตทรุดหัก พื้นนอกชานและตัวอาคารทรุดหักรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 225,000 บาท ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายดังกล่าวกับดอกเบี้ยจากวันเกิดความเสียหายจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,437 บาท 50 สตางค์ และดอกเบี้ยจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามให้การว่า ไม่จำต้องรับผิดในค่าเสียหายนั้นที่เกิดความเสียหายขึ้นแก่ทรัพย์สินของโจทก์ ก็เพราะทรัพย์สิน โจทก์ได้ก่อสร้างมานานแล้วและความเสียหายเกิดขึ้นเพราะภัยธรรมชาติอันเป็นสิ่งสุดวิสัย โจทก์มิได้เสียหายมากดังฟ้อง หากจะซ่อมแซมก็เสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน 3,000 บาท ทั้งจำเลยไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ย

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 แถลงว่า ถ้าคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระให้โจทก์ทั้งหมด โจทก์จึงไม่ติดใจเรียกผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 2 ให้เข้ามารับมรดกความแทนจำเลยที่ 2

เมื่อสืบพยานโจทก์หมดแล้ว ก่อนสืบพยานจำเลย ศาลไกล่เกลี่ยคู่ความตกลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 17 ตุลาคม 2509ว่า คู่ความจะหาทางตกลงปรองดองกันในระหว่างกันเองก่อน แล้วจะแถลงให้ศาลทราบภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2509 ถ้าตกลงกันไม่ได้หรือไม่แถลงให้ศาลทราบ ให้ศาลกำหนดเงินจำนวนหนึ่งขึ้นตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อให้เป็นการช่วยเหลือ โดยจำเลยตกลงจะชำระตามที่ศาลกำหนดและโจทก์ก็พอใจตามนั้น ไม่ติดใจดำเนินคดีกันต่อไปแล้วศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 8 ธันวาคม 2509

ก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องว่าการเจรจาตกลงอะไรกันไม่ได้ ถ้าศาลกำหนดเงินช่วยเหลือให้จำเลยชำระเท่าไรหากโจทก์พอใจก็รับเอา ถ้าไม่พอใจก็จะอุทธรณ์ต่อไปเพราะข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าว คู่ความมิได้ตกลงในประเด็นแห่งคดีเป็นการแน่นอน เพียงแต่ศาลให้คู่กรณีหาทางตกลงกันเองก่อน หากตกลงกันไม่ได้ศาลจะเป็นฝ่ายกำหนดเงินช่วยเหลือให้จำนวนหนึ่ง แล้วพิพากษาไปตามนั้น ดังนี้ คำพิพากษาจึงไม่เป็นไปตามข้อตกลงของคู่กรณีในประเด็นแห่งคดี เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 คู่ความจึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษานั้นก็ไม่เป็นคำพิพากษาอันต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222 เพราะเงินที่กำหนดเพื่อช่วยเหลือนั้น มิใช่เป็นผลมาจากอนุญาโตตุลาการ และเป็นกรณีที่ศาลไม่ได้พิพากษาตามข้อกำหนดของอนุญาโตตุลาการแต่เป็นกรณีที่ศาลกำหนดขึ้นเองตามสมควร จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ โจทก์ได้สืบพยานไว้แล้ว ส่วนจำเลยยังมิได้สืบพยาน จึงตกเป็นฝ่ายได้รับความเสียหาย เพราะไม่มีพยานหลักฐานอะไรที่จะช่วยแสดงให้ศาลได้ใช้ประกอบการวินิจฉัยชี้ขาดตามวิธีการแห่งกระบวนพิจารณา จำเลยจึงไม่ประสงค์ให้ศาลกำหนดเงินช่วยเหลือ และขอสืบพยานจำเลยแล้วให้ศาลชี้ขาดไปตามพยานหลักฐาน

โจทก์คัดค้านคำร้องจำเลย

ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของจำเลยว่า เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันต่อศาลเช่นนั้นแล้วจำเลยจะถอนฝ่ายเดียวโดยโจทก์ไม่ยินยอมด้วยไม่ได้ ยกคำร้อง

ในที่สุดศาลชั้นต้นพิพากษา โดยกำหนดเงินค่าช่วยเหลือให้จำเลยที่ 1และที่ 3 ชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 80,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลพิพากษาให้ 80,000 บาท ไม่คู่ควรกับความเสียหายของโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดตามฟ้อง

จำเลยที่ 1 และที่ 3 แยกอุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า มีสิทธิเพิกถอนข้อตกลงได้ ส่วนจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่าเงินค่าช่วยเหลือไม่ใช่ค่าเสียหาย เป็นการพิพากษานอกคำขอแต่แล้วจำเลยที่ 3 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอนุญาต

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ผู้เดียวฎีกาว่า ข้อตกลงไม่ชอบด้วยกฏหมาย จำเลยมีสิทธิขอให้ยกเลิกเพิกถอนได้

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์จำเลยตกลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 17 ตุลาคม 2509 นั้น เป็นการสละประเด็นตามฟ้องตามคำให้การของคู่กรณี โดยงดสืบพยานต่อไป ขั้นแรกให้คู่ความไปตกลงในระหว่างกันเองก่อน หากตกลงกันไม่ได้ ก็ยินยอมให้ศาลกำหนดจำนวนเงินก้อนหนึ่งเพื่อเป็นการช่วยเหลือแก่โจทก์ โดยคู่ความตกลงจะถือปฏิบัติตาม นับว่าเป็นข้อตกลงให้ศาลใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะให้จำเลยชำระแก่โจทก์ เพื่อให้คดีได้เสร็จลุล่วงไป โดยต่างสละข้ออ้างข้อเถียงในประเด็นส่วนอื่นสิ้นเชิง การตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกมัดโจทก์จำเลยให้ปฏิบัติตาม ดังนั้น การที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะมาขอยกเลิกเพิกถอนข้อตกลงดังกล่าว โดยขอให้สืบพยานต่อไปแล้ว ให้ศาลพิพากษาไปตามรูปคดี จึงย่อมไม่อาจกระทำได้ อนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะใช้ถ้อยคำว่าเป็นจำนวนเงินเพื่อช่วยเหลือโจทก์ก็ตาม แต่จำนวนเงินดังกล่าวก็ย่อมเป็นที่เข้าใจกันในระหว่างคู่ความแล้วว่า เป็นจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกร้องมาตามฟ้องนั่นเอง คู่ความจึงตกลงกันสละประเด็นแห่งคดีและระงับการสืบพยานต่อไป และในกรณีที่คู่ความไม่สามารถตกลงกันได้ก็ให้ศาลเป็นผู้กำหนด ฉะนั้น เมื่อคู่ความตกลงกันเช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจจะวินิจฉัยชี้ขาดไปได้ตามที่คู่ความตกลงกันข้อตกลงนั้นเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฏหมาย และมิได้ขัดต่อกฏหมายอันจะทำให้ตกเป็นโมฆะแต่ประการใด

พิพากษายืน

Share