แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่พยานโจทก์เพียงแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบหลังเกิดเหตุครั้งแรกว่ามีสายเคเบิลใยแก้วนำแสงของโจทก์ติดตั้งอยู่แต่ไม่มีความชัดเจนว่าฝังอยู่จุดใดบ้าง ประกอบกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้รับเหมาช่วงซึ่งดำเนินการวางท่อประปามาแล้วประมาณ 50 กิโลเมตร ขุดไม่โดนสายเคเบิลของโจทก์เลย เหลือระยะทางที่จะต้องวางท่อประปาอีกประมาณ 135 กิโลเมตร ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ยังคงขุดเพื่อวางท่อประปาต่อไปตามแนวเขตที่ได้รับอนุญาตโดยปฏิบัติเหมือนกับ 50 กิโลเมตรแรก จึงฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สายเคเบิลของโจทก์ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เช่นกัน
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันมากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3922/2549 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้ฎีกา คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 4,769,289.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,555,739.61 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,189,017.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะ ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,277,869.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ.2522 จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 วางท่อประปาขยายเขตจำหน่ายน้ำเข้าบริเวณโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยใช้ท่อพีวีซี, พีอี ขนาด 100 ถึง 500 มิลลิเมตร ความยาว 185,000 เมตร ภายในบริเวณที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน โดยดำเนินการช่วงปลายปี 2546 ถึงปลายเดือนมกราคม 2547 มีห้างหุ้นส่วนจำกัด สามประสิทธิ์รับจ้างช่วงงานต่อจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการ โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียน ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้าง วางสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ตามโครงการขยายโครงข่ายขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย บริเวณทางหลวงหมายเลข 3 ชุมสายโทรศัพท์แหลมฉบัง – ชุมสายโทรศัพท์มาบตาพุด ซึ่งในช่วงที่จำเลยที่ 2 วางท่อประปาขยายเขตจำหน่ายน้ำเข้าบริเวณโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โจทก์วางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างรอส่งมอบงานให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ขณะผู้รับจ้างช่วงขุดดินเพื่อวางท่อน้ำโดยใช้รถแบ็กโฮขุดดินวางท่อช่วงปลายปี 2546 ถึงปลายเดือนมกราคม 2547 รถแบ็กโฮขุดดินตามแนวเขตที่ได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงบริเวณทางหลวงหมายเลข 3 กิโลเมตรที่ 199 + 405 ไปถูกสายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่โจทก์วางไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 497,999,86 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 ใช้รถแบ็กโฮขุดดินวางท่อตามแนวเขตที่ได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงเช่นเดิม แล้วการขุดไปถูกสายเคเบิลใยแก้วนำแสงบริเวณทางหลวงหมายเลข 3 กิโลเมตรที่ 198 + 500, 202 + 000, 197 + 330 และบริเวณทางแยกเข้านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดรวม 4 จุด เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงในการวางสายเคเบิลใยแก้วนำแสง แต่โจทก์ปฏิบัติผิดข้อกำหนดของกรมทางหลวง คือไม่วางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในระยะ 4 เมตร จากเขตทางหลวง ไม่ติดตั้งป้ายแสดงแนวสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเพื่อให้บุคคลภายนอกทราบ ไม่ติดตั้งแผ่นเตือนคอนกรีตเพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดขุดเจาะโดนสายเคเบิล เมื่อได้รับแจ้งจากโจทก์หลังเกิดเหตุครั้งแรก จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็มิได้วางท่อประปาเกิน 1.80 เมตร จากเขตทางหลวง จุดเกิดเหตุครั้งที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้อยู่เกินกว่า 1.80 เมตร แม้แต่จุดเดียว ไม่มีวิธีการหรือมาตรฐานการระมัดระวังใด ๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อไม่ให้การขุดทางท่อประปาไปเกี่ยวสายเคเบิลของโจทก์ได้และไม่สามารถคาดหมายได้ว่าจะเกี่ยวสายเคเบิลของโจทก์หรือไม่ เพราะจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่เคยขุดล้ำเข้าไปในเขตที่โจทก์วางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเลย แต่การเกี่ยวสายเคเบิลใยแก้วนำแสงของโจทก์ทุกจุดเกิดจากโจทก์วางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงล้ำเข้ามาในเขตวางท่อประปาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทั้งสิ้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงมิได้ประมาท จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ นั้น ในเรื่องนี้ นายนรสิทธิ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า หลังเกิดเหตุครั้งแรก พยานได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่าในแนวเขตทางหลวง 4 เมตร มีสายเคเบิลใยแก้วนำแสงของโจทก์ติดตั้งอยู่ตลอดแนว นั้น ไม่มีความชัดเจนว่ามีรายละเอียดอย่างไร ทั้งไม่ปรากฏว่ามีเอกสารแจ้งแนวเขตที่แน่นอนประกอบกับไม่มีป้ายแจ้งแนวเขตและแผ่นเตือนคอนกรีตวางอยู่เหนือสายเคเบิลใยแก้วนำแสงของโจทก์ตามเงื่อนไขที่ปรากฏในหนังสืออนุญาต ฝ่ายจำเลยย่อมไม่อาจทราบได้ว่าสายเคเบิลของโจทก์ฝังอยู่จุดใด ทั้งได้ความจากนายนิพัฒน์พยานจำเลยที่ 2 ที่ 3 ว่า ก่อนเกิดเหตุครั้งแรกห้างหุ้นส่วนจำกัด สามประสิทธิ์ดำเนินการวางท่อประปายาวมากกว่า 50 กิโลเมตร แล้ว จุดที่ขุดโดนสายเคเบิลของโจทก์ 5 จุด มีระยะทาง 5 กิโลเมตร และอยู่ในแนวเขตที่ฝ่ายจำเลยได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงให้ขุดวางท่อประปา ดังนี้ การที่พยานโจทก์เพียงแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบหลังเกิดเหตุครั้งแรกว่า มีสายเคเบิลใยแก้วนำแสงของโจทก์ติดตั้งอยู่ แต่ไม่มีความชัดเจนว่าฝังอยู่จุดใดบ้าง ประกอบกับห้างหุ้นส่วนจำกัด สามประสิทธิ์ ผู้รับเหมาช่วงซึ่งดำเนินการวางท่อประปามาแล้วประมาณ 50 กิโลเมตร ขุดไม่โดนสายเคเบิลของโจทก์เลย เหลือระยะทางที่จะต้องวางท่อประปาอีกประมาณ 135 กิโลเมตร ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด สามประสิทธิ์ยังคงขุดเพื่อวางท่อประปาต่อไป ตามแนวเขตที่ได้รับอนุญาตโดยปฏิบัติเหมือนกับ 50 กิโลเมตรแรก จึงฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สายเคเบิลของโจทก์ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ