คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13098/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 บัญญัติว่า สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย นอกจากนี้ในการตีความการแสดงเจตนายังต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ด้วย
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างบริษัท ม. กับโจทก์ ระบุให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์สำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีอัตราร้อยละ 9 ต่อปี เมื่อทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี และ 15 ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามวงเงิน ครั้นเมื่อทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 9.25 ต่อปี 12.5 ต่อปี และ 13 ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามวงเงิน การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ดังกล่าวเป็นไปตามประเพณีของธนาคารตามข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา การที่โจทก์ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 จะถือว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะคิดดอกเบี้ยแก่บริษัท ม. หาได้ไม่ เพราะสัญญาข้อ 2 ระบุว่า เงื่อนไขข้ออื่น ๆ ที่ได้ระบุไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม รวมทั้งข้อตกลงต่อท้ายสัญญาให้มีผลบังคับตลอดไปด้วยทุกประการ จึงมีความหมายว่า เรื่องดอกเบี้ยที่ไม่ได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่นจะต้องบังคับตามเงื่อนไขในสัญญาฉบับก่อน คือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 การที่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 มิได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้หาทำให้โจทก์หมดสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากบริษัท ม. ไม่ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 21,222,159.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 14,901,911.75 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองแถลงสละประเด็นตามคำให้การทั้งหมด แต่ในส่วนดอกเบี้ยขอให้ศาลวินิจฉัยตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 14,480,711.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 บาท อัตราร้อยละ 9.25 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท อัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงิน 11,840,711.83 บาท นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ชั้นต้น (บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด) แล้วเพียงใด ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองลดลงเพียงนั้น กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 12,872,310.80 บาท พร้อมดอกเบี้ย สำหรับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ให้คิดจากต้นเงิน 12,872,310.80 บาท ยกคำขอในส่วนดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 2,008,401.03 บาท แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำไปฟ้องใหม่ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 2,000,000 บาท ยินยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ส่วนที่เกินวงเงินอัตราร้อยละ 12 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันที่ 5 ของเดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคารพาณิชย์ ต่อมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 20,000,000 บาท จำเลยทั้งสองทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด อย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากนั้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมาและมีการต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหลายครั้ง ต่อมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด ถูกระงับการดำเนินกิจการ ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2541 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด เป็นหนี้โจทก์ 12,872,310.80 บาท โจทก์ทวงถามให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด และจำเลยทั้งสองชำระหนี้ แต่บริษัทดังกล่าวและจำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ เมื่อสัญญาเลิกกันโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 บัญญัติว่า สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย นอกจากนี้ในการตีความการแสดงเจตนายังต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม มาตรา 171 ด้วย สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ข้อ 2 ระบุว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด ยอมให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์สำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีอัตราร้อยละ 9 ต่อปี เมื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี สำหรับวงเงิน 2,000,000 บาทแรก และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับวงเงิน 1,000,000 บาทถัดมา ครั้นเมื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 บริษัทดังกล่าวก็ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.25 ต่อปี สำหรับวงเงิน 2,000,000 บาทแรก อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี สำหรับวงเงิน 1,000,000 บาทถัดมา และอัตราร้อยละ 13 ต่อปี สำหรับวงเงิน 3,000,000 บาทถัดต่อมา การคิดดอกเบี้ยของโจทก์เป็นไปตามประเพณีของธนาคารตามข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา การที่โจทก์ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 จะถือว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะคิดดอกเบี้ยแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด หาได้ไม่ เพราะสัญญา ข้อ 2 ระบุว่า เงื่อนไขอื่น ๆ ที่ได้ระบุไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี รวมทั้งข้อตกลงต่อท้ายสัญญาให้มีผลบังคับตลอดไปด้วยทุกประการ จึงมีความหมายว่า เรื่องดอกเบี้ยที่ไม่ได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่นจะต้องบังคับตามเงื่อนไขในสัญญาฉบับก่อน คือ สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ซึ่งให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.25 ต่อปี สำหรับวงเงิน 2,000,000 บาทแรก อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี สำหรับวงเงิน 1,000,000 บาทถัดมา และอัตราร้อยละ 13 ต่อปี สำหรับวงเงิน 3,000,000 บาทถัดต่อมา การที่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 วงเงิน 14,000,000 บาท มิได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้หาทำให้โจทก์หมดสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด ไม่ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด ตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวนเท่าใด จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี เป็นดอกเบี้ยที่เกินวงเงิน 3,000,000 บาท เมื่อศาลชั้นต้นแยกดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี ออกไปต่างหาก จึงคงเหลือต้นเงินที่จะคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี เพียง 9,872,310.80 บาท เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงิน 12,872,310.80 บาท เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยจึงต้องห้ามตามกฎหมายนั้น เห็นว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ระบุว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด ยอมให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.25 ต่อปี ของวงเงิน 2,000,000 บาทแรก อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ของวงเงิน 1,000,000 บาทถัดมา และอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของวงเงิน 3,000,000 บาท ถัดต่อมา ข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด ต้องชำระต้นเงินแก่โจทก์จำนวน 12,872,310.80 บาท เมื่อนำเงื่อนไขการคิดดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 มาใช้บังคับแก่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 แล้ว บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.25 ต่อปี สำหรับวงเงิน 2,000,000 บาทแรก จากนั้นต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี สำหรับวงเงิน 1,000,000 บาทถัดมา จึงคงเหลือต้นเงินที่จะต้องคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี เพียง 9,872,310.80 บาท เท่านั้น เมื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เมืองทองทรัสต์ จำกัด ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงิน 9,872,310.80 บาท เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงิน 12,872,310.80 บาท ซึ่งเป็นต้นเงินที่มีการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.25 ต่อปี และอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ไปแล้ว จึงมีผลเท่ากับเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองต้องชำระแก่โจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงเป็นเงิน 2,591,604.81 บาท จำเลยทั้งสองต้องเสียค่าขึ้นศาล 64,790 บาท แต่จำเลยทั้งสองเสียมา 200,000 บาท จึงให้คืนส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 12,872,310.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.25 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาทแรก อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 บาทถัดมา และอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 9,872,310.80 บาทที่เหลือ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 135,210 บาท แก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share