คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มีสิทธิขอบังคับตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยไม่จำต้องบังคับจำนำเอากับหุ้นก่อน แต่โจทก์ต้องตั้งรูปบรรยายฟ้องและคิดคำนวณยอดหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินอย่างเดียวโดยไม่กล่าวถึงการบังคับจำนำเอากับหุ้นที่จำเลยจำนำไว้ ดังนั้นการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิบังคับจำนำและคิดคำนวณยอดหนี้โดยหักเงินที่ได้จากการบังคับจำนำมาชำระหนี้ และศาลต้องพิจารณาประเด็นเรื่องการบังคับจำนำ เมื่อศาลวินิจฉัยว่าการบังคับจำนำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้ยอดหนี้ที่โจทก์คิดคำนวณมาในฟ้องไม่ถูกต้อง จึงไม่ชอบที่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้อง ศาลจึงให้มีการคิดคำนวณใหม่โดยพิพากษายกฟ้องและไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เดิมโจทก์ใช้ชื่อว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด (มหาชน) หลังจากทะเบียนแปรสภาพจากบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว โจทก์จึงได้มาซึ่งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และความรับผิดของบริษัทเดิมทั้งหมด โจทก์ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจเงินทุนตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 จำเลยกู้เงินโจทก์ โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 001338001144 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวน 80,000,000 บาท ให้แก่โจทก์หรือตามคำสั่งเมื่อทวงถาม ณ ที่ทำการสำนักงานใหญ่ของโจทก์ และจะใช้ดอกเบี้ยของเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ทุกเดือนในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น อัตราดอกเบี้ยกำหนดจากอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับเงินให้กู้ยืมระยะสั้นที่ประกาศใช้ในขณะที่เกิดดอกเบี้ยโดยโจทก์ ขณะออกตั๋วสัญญาใช้เงินเท่ากับอัตราร้อยละ 14 ต่อปี แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้บวกด้วยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี (รวมเป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี) ตกลงชำระดอกเบี้ยทุกวันทำการสิ้นเดือนและภายหลังจากวันออกตั๋วสัญญาใช้เงิน หากโจทก์มีการกำหนดและการประกาศเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับเงินกู้ยืมระยะสั้นขึ้นใหม่ไม่ว่าเพิ่มหรือลดลง จำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราที่เปลี่ยนแปลงใหม่บวกด้วยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี แทนอัตราเดิมทุกครั้งตลอดไปนับแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ในการออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวข้างต้น จำเลยสัญญาว่าหากจำเลยผิดนัดชำระคืนต้นเงินหรือดอกเบี้ยตามกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้นให้ถือว่าผิดนัดในจำนวนหนี้ทั้งหมดและหนี้ทั้งหมดถึงกำหนดชำระทันที ตลอดจนยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินที่ยังคงค้างชำระทั้งหมดในอัตราสูงสุดตามที่มีประกาศของโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เรียกเก็บจากลูกค้าเงินกู้ ไม่เกินกว่าดอกเบี้ยตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้โจทก์สามารถเรียกเก็บจากลูกค้าเงินกู้ได้ขณะออกตั๋วสัญญาใช้เงินเท่ากับอัตราร้อยละ 21 ต่อปี และปัจจุบันเท่ากับอัตราร้อยละ 28 ต่อปี เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยนำหุ้นของบริษัทซีคอน ดีเวลลอปเม้นท็ จำกัด จำนวน 99,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 9,900,000 บาท มาจำนำ โดยสัญญาว่าหากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์ ยินยอมให้โจทก์บังคับจำนำหุ้นได้ทันที ภายหลังที่จำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้แก่โจทก์แล้ว จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เรื่อยมา แต่ต่อมาภายหลังจำเลยชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดและผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้หลายครั้งและบังคับจำนำหลักประกันชำระหนี้บางส่วนแล้ว ยังคงเหลือหนี้ค้างชำระอยู่โดยคิดเพียงวันที่ 5 มิถุนายน 2540 คงค้างชำระต้นเงิน จำนวน 28,916,855.76 บาท มาผิดนัดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 6 มิถุยายน 2540 เป็นต้นมา โจทก์ติดตามทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 36,760,057.73 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 28 ต่อปี ของต้นเงิน จำนวน 28,916,855.76 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยติดต่อกับโจทก์ซึ่งใช้ชื่อบริษัทเงินทุนธนชาติ จำกัด (มหาชน) จำเลยไม่เคยกู้เงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยกู้เงินและออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 11 เพื่อเป็นวงเงินในการให้บริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทนจำเลย โดยจำเลยไม่ได้รับเงินสดจากบริษัทดังกล่าว ตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องกำหนดให้จำเลยใช้เงินเมื่อทวงถาม แต่โจทก์มิได้ทวงถามทั้งมิได้บอกกล่าวบังคับจำนำเอากับหุ้นบริษัทซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่จำนำเป็นประกันหนี้ โจทก์ดำเนินการบังคับจำนำเอาหุ้นดังกล่าวออกขายทอดตลาดโดยจำเลยไม่ยินยอมและเป็นการกระทำโดยพลการ การขายทอดตลาดหุ้นก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2540 โจทก์ขายทอดตลาดหุ้นบริษัทซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด จำนวน 99,000 หุ้น นายทะเบียนหุ้นได้ไปเป็นสักขีพยาน แต่ไม่มีผู้เข้าประมูล จึงเลื่อนไปในวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 นายทะเบียนหุ้นไม่ได้ไปเป็นสักขีพยาน ทั้งมิได้แจ้งวันนัดขายทอดตลาดให้จำเลยทราบ ในวันดังกล่าวไม่มีผู้เข้าประมูลเช่นเดียวกัน แต่โจทก์รับซื้อหุ้นไว้ในราคาหุ้นละ 100 บาท ซึ่งเป็นราคาตามมูลค่าหุ้นจดทะเบียน โดยมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวพันที่ถือหุ้นไขว้เป็นพยาน โจทก์และบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้น และเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ของบริษัทซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เช่นกัน ย่อมทราบว่าราคาหุ้นที่แท้จริงของหุ้นดังกล่าวซึ่งปรากฏค่าหุ้นทางบัญชีตามงบการเงินของบริษัทซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด งวดสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2539 มีมูลค่าหุ้นละ 633.57 บาท และในงบการเงินสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2540 มีมูลค่าหุ้นละ 629.67 บาท การประมูลหุ้นดังกล่าวเป็นการประมูลซื้อขายราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ซึ่งหากขายโดยถูกต้องตามวิธีการขายทอดตลาด จะได้มูลค่าหุ้นไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 630 บาท หรือถ้าหากมีผู้เข้าประมูลสู้ราคาก็อาจได้ราคาสูงกว่านี้มาก เมื่อคำนวณแล้วจะได้เงินสูงกว่าจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งจำเลยขอสงวนสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ดังนั้น เมื่อการขายทอดตลาดหุ้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมิได้บอกกล่าวบังคับจำนำโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นอกจากนี้นการดำเนินการบังคับจำนำขายทอดตลาดหุ้นบริษัทซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่มีเจตนาทุจริตของโจทก์ดังกล่าว จำเลยได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด (มหาชน) กับผู้ร่วมกระทำความผิดในฐานะร่วมกันฉ้อโกง เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้จัดการทรัพย์สินผู้อื่น ร่วมกันกระทำผิดหน้าที่ด้วยประการใดๆ โดยทุจริต และกระทำผิดในฐานะผู้มีอาชีพอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 353, 354 และ 83 และความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 309 ในฐานะกรรมการผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 พ.ศ.2526 มาตรา 75 ทวิ และ 75 เบญจ จนคดีถึงที่สุด ปรากฏตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของกองบังคับการสืบสวนสวบสวนคดีเศรษฐกิจ ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 หากมีการบังคับจำนำขายทอดตลาดหุ้นที่เป็นหลักประกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยก็จะไม่เป็นหนี้โจทก์ทั้งมีเงินคงเหลือจากการชำระหนี้ ซึ่งโจทก์ก็จะต้องจ่ายคืนจำเลยอีกด้วย ในการกู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด (มหาชน) โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องนั้น จำเลยไม่ได้รับเงินแต่ใช้เป็นวงเงินในการที่จำเลยแต่งตั้งบริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อหุ้นแทนจำเลยตามที่ได้สั่งซื้อ และขณะนี้มีหุ้นของบริษัทต่างๆ ซึ่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ยึดถือไว้มีรายละเอียดปรากฏตามรายการแสดงจำนวนหุ้น ราคาหุ้น และมูลค่าหุ้นในบัญชีซื้อขายหุ้นของจำเลย ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 รวมแล้วมีมูลค่าหุ้นทั้งหมดเป็นเงิน 95,857,312.97 บาท ซึ่งบริษัทจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 5 ข้อ 3 (4) ประกาศ ณ วันที่ 9 มีนาคม 2538 และมีการขยายเวลาตามประกาศฉบับที่ 6 ประกาศ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2538 และฉบับที่ 8 ประกาศ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 แต่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด (มหาชน) หรือโจทก์ไม่ดำเนินการแต่อย่างใด และจำเลยกำลังจะดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 309 ต่อไป ซึ่งหากมีการบังคับขายหุ้นเหล่านั้นทั้งหมดตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็จะได้เงินสูงกว่ามูลค่าตามตั๋วสัญญาใช้เงิน และจำเลยยังจะได้รับเงินส่วนที่เหลืออีก ดังนั้น จำเลยยังมิได้เป็นหนี้โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เพราะโจทก์ยังมิได้บังคับชำระหนี้เอาจากหุ้นของบริษัทต่างๆ ที่โจทก์ยึดถือไว้แทนจำเลยในการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิบังคับจำนำเอากับหุ้นของบริษัทซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่จำเลยวางไว้เป็นประกัน เพราะโจทก์จะบังคับจำนำได้ก็ต่อเมื่อได้บังคับชำระหนี้เอาจากหุ้นของบริษัทต่างๆ ที่โจทก์ถือแทนจำเลยไว้แล้วไม่พอ และการบังคับจำนำหุ้นที่จำเลยวางไว้เป็นประกันนั้นก็เป็นการกระทำโดยมิชอบ และเป็นกรณีทุจริตต่อจำเลยซึ่งเป็นลูกค้า การที่โจทก์บังคับจำนำโดยพลการ และนำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและขัดต่อกฎหมาย นอกจากนี้โจทก์จัดทำรายการบัญชีเงินกู้ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 12 อันเป็นเท็จ โดยการปลอมบัญชีเอกสารลงข้อความเท็จในบัญชีหรือเอกสาร ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบันหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าได้รับความเสียหาย จำเลยกำลังจะร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์และพวก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 200 บาท ให้จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าการขายทอดตลาดหุ้นของบริษัทซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เพื่อบังคับจำนำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 764 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะนำเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้ แต่ต้องขายทอดตลาด” ทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า การขายทอดตลาดครั้งที่สองที่ขายได้ไม่ได้ส่งไปลงประกาศทางหนังสือพิมพ์ ทั้งที่การขายทอดตลาดครั้งแรกได้มีการส่งไปลงประกาศทางหนังสือพิมพ์ ประการต่อมาผู้ทำการขายทอดตลาดคือนายประชาก็เป็นพนักงานของโจทก์ โจทก์เป็นผู้เสนอซื้อเพียงรายเดียวในราคาหุ้นละ 100 บาท เท่ากับราคาที่ระบุไว้ในใบหุ้นเท่านั้น ผู้ทอดตลาดจึงไม่สมควรที่จะขาย เพราะตามประกาศขายทอดตลาดเอกสารหมาย จ.42 ข้อ 5 มีความว่า “เมื่อใดผู้ทอดตลาดเห็นว่า ราคาซึ่งผู้ประมูลสู้ราคาสูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอ ผู้ทอดตลาดอาจถอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดได้” ซึ่งจำเลยมีนายสุชาติ ผู้ตรวจสอบบัญชีเบิกความว่า ได้ตรวจสอบงบการเงินของบริษัทซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และทำรายงานไว้ตามเอกสารหมาย ล.5 เมื่อคำนวณราคาหุ้นแล้วได้หุ้นละประมาณ 600 บาท พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การขายทอดตลาดไม่ได้เป็นไปโดยเปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไป และไม่ได้ขายในราคาที่พอสมควร ดังนั้น การขายทอดตลาดหุ้นของบริษัทซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เพื่อบังคับจำนำของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปมีว่า เมื่อมีการบังคับจำนำไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เต็มตามฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะมีสิทธิขอบังคับตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยไม่จำต้องบังคับจำนำเอากับหุ้นก่อนดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่โจทก์ก็ต้องตั้งรูปบรรยายฟ้องและคิดคำนวณยอดหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินอย่างเดียวโดยไม่กล่าวถึงการบังคับจำนำเอากับหุ้นที่จำเลยจำนำไว้ ดังนั้นการที่โจทก์ตั้งรูปบรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิบังคับจำนำและคิดคำนวณยอดหนี้โดยหักเงินที่ได้จากการบังคับจำนำมาชำระหนี้ และศาลต้องพิจารณาประเด็นเรื่องการบังคับจำนำ เมื่อวินิจฉัยว่าการบังคับจำนำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้ยอดหนี้ที่โจทก์คิดคำนวณมาในฟ้องไม่ถูกต้อง ไม่ชอบที่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้องดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า ศาลควรพิพากษายกฟ้องโดยไม่ระบุว่าให้สิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่หรือไม่ ในประเด็นข้อนี้ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นคดีมีทุนทรัพย์และจำเลยเสียค่าขึ้นศาลไม่ถูกต้อง จึงไม่รับวินิจฉัยให้นั้น เห็นว่า ข้ออุทธรณ์นี้เป็นเพียงปัญหาว่าจะระบุไว้ในคำพิพากษาให้สิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่หรือไม่ ไม่มีข้อพิพาทโต้แย้งเรื่องจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดโดยตรง จึงไม่ใช่คดีมีทุนทรัพย์ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยนั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์และหนี้ยังไม่ระงับ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญา แต่เมื่อยอดหนี้ที่ค้างชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยยังไม่ถูกต้อง ก็สมควรที่จะให้มีการคิดคำนวณใหม่โดยพิพากษายกฟ้องและไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องใหม่ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิพากษาได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริต จึงไม่ควรให้สิทธิฟ้องคดีใหม่นั้น ศาลก็ได้วินิจฉัยแล้วว่าการขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งย่อมจะไม่มีผลถึงหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยมีความรับผิดต่อโจทก์อยู่ตั้งแต่ก่อนจะมีการขายทอดตลาดแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share