คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1694/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2550 และร่วมกันปลอมใบส่งของ เล่มที่ 3/3 เลขที่ 18 ลงวันที่ 16 เมษายน 2550 อันเป็นเอกสารสิทธิของผู้เสียหาย แล้วนำใบส่งของที่ทำปลอมขึ้นไปแสดงต่อ ส. กรรมการผู้จัดการของผู้เสียหายในวันเดียวกัน แม้การปลอมเอกสารดังกล่าวจะกระทำภายหลังจากจำเลยทั้งสองลักทรัพย์สำเร็จ แต่ก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะใช้เอกสารปลอมที่ทำขึ้นเป็นหลักฐานเพื่อปกปิดการกระทำของตนที่ได้ลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป ความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมกับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ฎีกาในปัญหานี้แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1756/2550 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 2 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 334, 335, 83, 91 และให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 400,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าได้ยักยอกเงินของผู้เสียหายไป จำนวน 60,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268, 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 กับฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำเลยทั้งสองเป็นทั้งผู้ปลอมและผู้ใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี คำให้การของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 203,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาตามฟ้องข้อ 1.1 และ 1.2 และคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีข้อพิรุธน่าสงสัย ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดตามฟ้อง ข้อ 1.3 และ 1.4 ด้วยนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาที่มีการอนุญาตให้ฎีกาและฎีกานั้นไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับไว้พิจารณาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2550 และร่วมกันปลอมใบส่งของ เล่มที่ 3/3 เลขที่ 18 ลงวันที่ 16 เมษายน 2550 อันเป็นเอกสารสิทธิของผู้เสียหาย แล้วนำใบส่งของที่ทำปลอมขึ้นนั้นไปแสดงต่อนางสุวรรณลา กรรมการผู้จัดการของผู้เสียหายในวันเดียวกัน แม้การปลอมเอกสารดังกล่าวจะกระทำภายหลังจากจำเลยทั้งสองลักทรัพย์สำเร็จ แต่ก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะใช้เอกสารปลอมที่ทำขึ้นเป็นหลักฐานเพื่อปกปิดการกระทำของตนที่ได้ลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป ความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมกับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่แก้ไข เป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 และกรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share