คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2725/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฐานหย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติงานและมีความบกพร่องในการปฏิบัติงานอยู่เนือง ๆ ตามข้อบังคับของจำเลยที่ให้อำนาจผู้จัดการเลิกจ้างพนักงานในกรณีดังกล่าวได้ ดังนี้ การที่โจทก์หย่อนสมรรถภาพและมีความบกพร่องในการปฏิบัติงานจึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน ถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างในกรณีฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะหย่อนสมรรถภาพโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เพียง 5,000 บาท ยังขาดอีก 3,550 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 3,550 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยในเงินทั้งสองจำนวนตามกฎหมาย

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบการทำงานของจำเลยโดยละทิ้งหน้าที่หลบหลีกงานอยู่เป็นประจำและไม่ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย จำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้วโจทก์ยังคงประพฤติผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยอีกหลายครั้ง จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไปร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานพนักงานตรวจแรงงานได้ทำการไกล่เกลี่ย จำเลยเห็นสมควรจึงจ่ายเป็นการช่วยเหลือตามหน้าที่ศีลธรรมแก่โจทก์ 5,000 บาท จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า หนังสือทัณฑ์บนและถ้อยคำเป็นหนังสือของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือตักเตือน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ถือไม่ได้ว่าเลิกจ้างเพราะโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ แต่ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ยังขาดแก่โจทก์ 3,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก

ผู้พิพากษาสมทบคนหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษายกฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฐานหย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติงานอยู่เนือง ๆ ตามข้อบังคับฯ ของจำเลยซึ่งมีความว่า “ข้อ 19 ผู้จัดการมีอำนาจเลิกจ้างพนักงานได้ในกรณีดังต่อไปนี้(1) ฯลฯ (2) เมื่อมีเหตุสมควรซึ่งผู้จัดการเห็นว่าผู้นั้นหย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติงาน หรือมีความบกพร่องในการปฏิบัติงานอยู่เนือง ๆ หรือไม่อาจไว้วางใจให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้” ดังนี้ การที่โจทก์หย่อนสมรรถภาพและมีความบกพร่องในการปฏิบัติงานอยู่เนือง ๆ มิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน จึงถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างในกรณีฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 47(3) และไม่จำต้องวินิจฉัยว่าหนังสือทัณฑ์บนและถ้อยคำเป็นหนังสือที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยเป็นหนังสือตักเตือนหรือไม่

พิพากษายืน

Share