คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 215/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีบุตรถูกทำละเมิดถึงตาย บิดาย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าขาดไร้อุปการะได้ ทั้งนี้มิพักต้องคำนึงถึงฐานะทางการเงินว่าเป็นอยู่อย่างไรและได้รับอุปการะอยู่ขณะบุตรตายหรือไม่ เพราะค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้หมายรวมถึงการสูญสิ้นซึ่งความคาดหวังในอุปการะจากบุตรหากตนมีอันต้องยากไร้ลงในเวลาภายหน้าด้วย ฉะนั้นจะนำหลักเกณฑ์การเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างผู้มีความสัมพันธ์ทางครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาใช้มิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาของนายเถกิงพงษ์ พงษ์สาระนันทกุลจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการเดินรถบรรทุก เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2507นายสุเทพลูกจ้างของจำเลยได้ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน ส.พ.00817ในกิจการของจำเลยจากชัยนาทไปตาคลี เมื่อขับมาถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 11 และ 12 ได้ชนกับรถจิ๊ป ก.ท.ป.6946 ซึ่งนายณรงค์อรุณฉาย ขับสวนมา เป็นเหตุให้นายเถกิงพงษ์ซึ่งนั่งมาในรถจิ๊ปถึงแก่ความตายทันที ทั้งนี้เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของนายสุเทพโจทก์ได้รับความเสียหายคือค่าใช้จ่ายในการทำบุญและค่าฌาปนกิจศพนายเถกิงพงษ์ 7,100 บาท ค่าใช้จ่ายในการไปสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองชัยนาท 2,000 บาท ค่าขาดอุปการะจากนายเถกิงพงษ์ซึ่งเคยอุปการะโจทก์เดือนละ 200 บาท ขอคิดเพียง 10 ปี เป็นเงิน24,000 บาท รวม 3 รายการเป็นเงิน 33,100 บาท ขอให้จำเลยใช้เงิน 33,100 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้โจทก์

จำเลยให้การว่า นายณรงค์ อรุณฉาย ผู้ขับรถจิ๊ปเป็นฝ่ายประมาทคือขับรถเร็วและดื่มสุราจนไม่สามารถครองสติได้ ขับรถส่ายไปมาและเข้าชนรถบรรทุกเอง ไม่ใช่เป็นความผิดหรือความประมาทของนายสุเทพ นายสุเทพไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย ไม่มีความผูกพันกันในฐานะนายจ้างลูกจ้าง ค่าใช้จ่ายในการทำบุญและฌาปนกิจศพนายเถกิงพงษ์สูงเกินกว่าฐานะของผู้ตาย หากใช้จ่ายไปจริงก็ไม่เกิน 1,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการไปสถานีตำรวจ ไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนว่าจำเลยจะต้องรับผิด โจทก์จะได้จ่ายไปจริงหรือไม่

จำเลยไม่รับรอง ค่าขาดอุปการะ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิด เนื่องจากผู้ตายไม่มีรายได้อะไรขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ยังมีรายได้และมีผู้อุปการะอีกหลายทาง

ศาลแพ่งฟังว่าเหตุที่รถเกิดชนกันขึ้นครั้งนี้เป็นเพราะความประมาทของนายสุเทพซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยและได้กระทำไปตามทางการที่จ้าง จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ เรื่องค่าเสียหายปรากฏว่านายเถกิงพงษ์ผู้ตายกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 แผนกบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเป็นปีสุดท้ายที่จะได้รับปริญญาตรี ผู้ตายทำงานอยู่บริษัทอุตสาหกรรมไฟฟ้าไทย จำกัด จังหวัดพระนคร ได้เงินเดือน ๆ ละ 450 บาท ฉะนั้น ที่โจทก์เรียกร้องค่าใช้จ่ายในการทำบุญและฌาปนกิจเพียง 7,100 บาท เป็นการสมควรแก่ฐานะของผู้ตายแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายในการไปสถานีตำรวจของฝ่ายโจทก์เกี่ยวแก่คดี ซึ่งได้ใช้จ่ายไปรวม 2,000 บาท ก็เห็นว่าพอสมควรเช่นเดียวกัน จำเลยต้องรับผิดจะปฏิเสธเสียโดยอ้างว่าเป็นความสมัครใจของโจทก์หาได้ไม่ เพราะถ้าไม่เกิดการละเมิดขึ้น โจทก์ก็ไม่ต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายนี้ สำหรับค่าขาดอุปการะที่โจทก์เรียกร้องเพียงเดือนละ 200 บาท และคิดเพียง 10 ปี เป็นเงิน 24,000 บาท ในฐานะที่ผู้ตายเป็นบุตรชายของโจทก์ ถ้าไม่ตายเสียเพราะความประมาทเลินเล่อของฝ่ายจำเลยแล้ว ก็จะมีอนาคตอันไกลอยู่ที่โจทก์เรียกร้องเพียงเท่านี้ก็เป็นจำนวนน้อยอยู่แล้ว จำเลยจะปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 33,100 บาทให้โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงในข้อประมาทเลินเล่อตามศาลชั้นต้นส่วนค่าเสียหายเฉพาะค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายไปสถานีตำรวจเห็นสมควรให้เพียงจำนวน 2,083 บาท และ 500 บาทตามลำดับ สำหรับค่าขาดไร้อุปการะจำนวน 24,000 บาทนั้น ปรากฏว่าผู้ตายได้เงินเดือน ๆ ละ 450 บาท ได้ส่งมาให้บิดาเพียงเดือนแรก 200 บาทก็มาถึงแก่กรรม ต้องฟังว่าผู้ตายได้อุปการะบิดาผู้เป็นโจทก์ เมื่อผู้ตายมาถึงแก่กรรมไป บิดาก็ควรได้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 24,000 บาทตามฟ้อง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มีฐานะดีถือว่ายังไม่ขาดไร้อุปการะนั้นจำเลยตีความหมายคลาดเคลื่อนไป การขาดอุปการะกับการยากไร้ไม่เหมือนกัน แม้โจทก์จะมีฐานะดี เมื่อบุตรส่งเงินให้บิดามารดาจะเป็นรายเดือนก็ดี รายปีก็ดี นับว่าบุตรอุปการะบิดามารดาของตนไม่จำเป็นต้องบิดามารดายากจนจึงถือว่าอุปการะ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เฉพาะให้จำเลยใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เป็นเงิน 2,083 บาท ค่าใช้จ่ายไปสถานีตำรวจ 500 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาเฉพาะในข้อค่าขาดไร้อุปการะข้อเดียว ว่าโจทก์เป็นผู้มีฐานะดีสามารถเลี้ยงตนเองได้ ประกอบกับมีบุตรอีกหลายคนไม่ถือว่าโจทก์ขาดไร้อุปการะและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1594 ผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูต้องเป็นผู้ไร้ทรัพย์สินและไม่สามารถเลี้ยงตนเองได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1393/2495

ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 1594 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นเรื่องเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างผู้มีสิทธิได้รับกับผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายเช่นระหว่างภรรยากับสามี หรือระหว่างบุตรกับบิดามารดา กฎหมายจึงบัญญัติว่าผู้มีสิทธิเรียกร้องต้องเป็นผู้ไร้ทรัพย์สินและมิสามารถเลี้ยงตนเองได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 1393/2495 ที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้าง ก็เป็นเรื่องที่มารดาในฐานะผู้ปกครองบุตรผู้เยาว์เรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา จึงจะนำมาเป็นบรรทัดฐานมิได้เพราะคดีนี้เป็นเรื่องละเมิด ฝ่ายโจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของผู้ทำละเมิดอันเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย โดยอาศัยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรค 3 มิใช่เป็นการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยตรง กฎหมายมาตรานี้บัญญัติว่า ถ้าเหตุที่ตายนั้นทำให้บุคคลใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย บุคคลนั้นชอบจะได้รับค่าสินไหมทดแทน จะเห็นได้ชัดว่า การเรียกร้องนี้เป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนต่างหาก เมื่อบุตรมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู บิดามารดาตามกฎหมาย การที่บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าโจทก์ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ โดยมิต้องคำนึงว่าโจทก์ผู้เป็นบิดาจะมีฐานะยากดีมีจนอย่างไร และบุตรผู้ตายจะได้อุปการะโจทก์อยู่ก่อนถึงแก่กรรมหรือไม่ เพราะโจทก์อาจกลายเป็นผู้ยากไร้ลงในเวลาภายหน้าก็ได้

พิพากษายืน

Share