คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3591/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีบทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 84 ที่แก้ไขใหม่ โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป บัญญัติว่า “ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน…” ก็ไม่มีผลย้อนหลังไปกระทบถึงคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยดังกล่าวที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมจึงใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้
บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป เมื่อพนักงานสอบสวนสอบถามคำให้การของจำเลยในฐานะผู้ต้องหาในวันที่ 10 ตุลาคม 2547 ก่อนวันที่บทบัญญัติมาตรา 134/1 มีผลใช้บังคับ จึงไม่อาจนำมาตรา 134/1 มาใช้บังคับแก่การสอบถามคำให้การของจำเลยในคดีนี้ได้ การสอบสวนจำเลยจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134 ทวิ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 4, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง วรรคสาม (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ด้วย) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,200,000 บาท ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนลงโทษเท่าความผิดสำเร็จ ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 จำคุก 12 ปี และปรับ 600,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 800,000 บาท ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 8 ปี และปรับ 400,000 บาท รวมจำคุก 41 ปี 4 เดือน และปรับ 1,200,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและยึดได้เมทแอมเฟตามีน 1,600 เม็ด น้ำหนัก 147.010 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 47.346 กรัม โทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์เป็นของกลาง มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุม เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันในข้อสาระสำคัญ ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองจะเบิกความปรักปรำจำเลย และไม่น่าเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองสร้างเรื่องขึ้นเพื่อเอาผิดแก่จำเลยหรือหวังผลงานในการจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิด แม้การวางแผนจับกุมจำเลยจะไม่มีการนำธนบัตรไปใช้ล่อซื้อหรือลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้เป็นหลักฐานหรือมีการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่กันดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ก็ไม่ทำให้น้ำหนักคำพยานโจทก์ทั้งสองลดน้อยลง เพราะจากการตรวจค้นตัวจำเลยพบเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด อยู่ในกระเป๋าเสื้อยีนที่จำเลยใส่ ซึ่งจำเลยก็ให้การยอมรับว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำเลยนำมาส่งมอบให้แก่นางสาวจรียา นอกจากนี้จำเลยยังพาพยานโจทก์ทั้งสองกับพวกไปตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอีก 1,000 เม็ด ในห้องนอนของจำเลย และลงลายมือชื่อยอมรับว่าเมทแอมเฟตามีนที่ตรวจพบดังกล่าวจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริงสอดคล้องกับที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามบันทึกการจับกุม โดยมีเหตุผลน่าเชื่อว่าเป็นเพราะจำเลยถูกจับกุมอย่างกะทันหันพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางยังไม่มีโอกาสหาข้อแก้ตัวได้ทัน จึงต้องให้การรับสารภาพไปตามความเป็นจริง แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีบทบัญญัติมาตรา 84 ที่แก้ไขใหม่ โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2547 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป บัญญัติว่า “ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน…” ก็ไม่มีผลย้อนหลังไปกระทบถึงคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยดังกล่าวที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมตามบันทึกการจับกุมจึงใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้และเมื่อนำมาฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นแล้วย่อมมีน้ำหนักมั่นคง จึงรับฟังได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามที่โจทก์ฟ้องจริง
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าคดีนี้มีอัตราโทษถึงประหารชีวิต แต่ปรากฏตามบันทึกคำให้การของจำเลยลงวันที่ 10 ตุลาคม 2547 ว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ถามจำเลยว่ามีหรือไม่มีทนายความก่อนเริ่มถามคำให้การ ทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 134/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2547 ซึ่งตามมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป เมื่อพนักงานสอบสวนสอบถามคำให้การของจำเลยในฐานะผู้ต้องหาในวันที่ 10 ตุลาคม 2547 ก่อนวันที่บทบัญญัติมาตรา 134/1 ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงไม่อาจนำมาตรา 134/1 มาใช้บังคับแก่การสอบถามคำให้การของจำเลยในคดีนี้ได้ การสอบสวนจำเลยจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ทวิ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน แต่หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกิน 1 ปี

Share