แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเรียกบุคคลภายนอกให้เข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้ เมื่อความปรากฎแก่ศาลว่า จำเลยร่วมซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นเห็นเป็นการสมควรและเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมย่อมมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามที่โจทก์ร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) ได้ ไม่จำเป็นต้องให้โจทก์ฟ้องจำเลยร่วมเป็นคดีใหม่
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย 39,773 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 38,355 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และใช้ค่าเสียหาย 14,735.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 14,210 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนสามพราน ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนายอำเภอสามพรานตามพระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2522 เหตุละเมิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนายอำเภอ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 1 เอง มิได้เกิดจากการกระทำของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสองขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนหรือ อปพร. สามพราน ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของนายอำเภอสามพราน ตามพระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2522 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและเป็นเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งอยู่ในสังกัดของจำเลยร่วม และตาม มาตรา 5 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้กำหนดให้ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง จำเลยร่วมเท่านั้นจะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเป็นกรณีโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยผิดตัว ศาลจะต้องจำหน่ายคดีของโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยร่วมเป็นคดีใหม่ การขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมของโจทก์ทั้งสองมิอาจใช้ได้สำหรับกรณีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 27,000 บาท ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 8,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท ยกฟ้องจำเลย
จำเลยร่วมอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจาณาในศาลชั้นต้นรับรองมีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 19,145 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 5,570 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของแต่ละต้นเงิน นับแต่วันทำละเมิด (29 มีนาคม 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยร่วมฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีหรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57 (3) (ข) บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้ คดีนี้เมื่อความปรากฎแก่ศาลว่า จำเลยร่วมซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นเห็นเป็นการสมควรและเป็นการจำเป็นเพื่อเป็นประโยชน์แห่งความยุติธรรมโดยมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ข) นั้นชอบแล้ว
มีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า นายภัทรบุตรผู้เยาว์ของโจทก์ที่ 1 มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่าบุคคลใดขับขี่ประมาทหรือไม่ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์การขับขี่ของบุคคลนั้นเป็นสำคัญ มิใช่พิจารณาว่าบุคคลผู้ขับขี่มีหรือไม่มีใบอนุญาตขับขี่ แม้จำเลยจะอ้างว่าขับรถยนต์กระบะไล่ติดตามรถจักรยานยนต์คันที่นายภัทรขับเนื่องจากเชื่อว่านายภัทรตั้งใจขับรถจักรยานยนต์หลบหนีตำรวจ แต่จำเลยก็ควรไล่ติดตามด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนและบริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่มืดไม่มีแสงสว่าง จำเลยยิ่งควรใช้ความระมัดระวังมากกว่าปกติ การที่จำเลยใช้รถยนต์กระบะซึ่งมีลักษณะไม่แตกต่างจากรถยนต์กระบะของบุคคลทั่วไปขับไล่ติดตามรถจักรยานยนต์ของนายภัทรในเวลากลางคืน ย่อมอาจทำให้นายภัทรเกิดความหวาดกลัวจนต้องเร่งความเร็วรถเพื่อหลบหนีก็เป็นได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของพยานจำเลยปากพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นพยานคนกลางที่ว่า จากการสอบสวนมีความเห็นว่า เหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียว จึงแจ้งข้อหาดำเนินคดีแก่จำเลย และประกอบกับการที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นศาล ทั้งจำเลยยังเคยเสนอที่จะนำรถจักรยานยนต์ไปซ่อมแซมให้แล้ว เชื่อว่า เหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียว นายภัทรมิได้มีส่วนประมาทด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ