คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือรับรองการทำประโยชน์มิใช่หลักฐานที่แสดงว่าผู้มีชื่อในหนังสือ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นในทางทะเบียนเช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน ฉะนั้นโจทก์ผู้ซื้อที่ดินจึงไม่อาจอ้าง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1299 มาใช้ยันกับสิทธิของจำเลยผู้ครอบครองที่ดินนั้นได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากที่พิพาท ห้ามเกี่ยวข้องต่อไป ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำฟ้องคำให้การและทางนำสืบของโจทก์จำเลยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หมาย จ.1 ซึ่งออกให้แก่นางส้อย เพาะแก้ว เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2511 และนางส้อย เพาะแก้ว ขายให้นางบุญตา ร่องวารี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2511 นั่นเอง ต่อมานางบุญตาได้แบ่งขายที่แปลงนี้ให้กับนางอำนวย แซ่ตั้ง 42 ตารางวา ให้กับนายบ่าย ศรีเจริญ 48 ตารางวา ให้กับนางจำนงค์ พิทักษ์วาปี 56 ตารางวา และให้กับนางสัมฤทธิ์ โขลา 1 งาน 80 ตารางวา คงเหลือที่ดินอีก 2 งาน 64 ตารางวาเป็นที่ดินพิพาท นางบุญตาขายให้กับโจทก์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2523 ขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนางบุญตานั้นโจทก์ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครองใช่หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนี้โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางบุญตาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2523 และมีนางบุญตาผู้ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์มาเบิกความว่า นางบุญตาซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางส้อย เมื่อซื้อแล้วก็ได้ขอออก น.ส.3 โดยนางบุญตาก็มิได้เบิกความว่าซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางส้อยตั้งแต่ปีใดแต่ก็ปรากฏตาม น.ส.3 หมาย จ.1 ว่า น.ส.3 ฉบับนี้ออกในนามของนางส้อย เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2511 และนางส้อยโอนขายให้นางบุญตาในวันเดียวกันนั้น หลังจากนั้นนางบุญตาจึงได้แบ่งขายที่ดินตาม น.ส.3 หมาย จ.1 ให้กับบุคคลอื่นรวม 4 รายด้วยกันจนเหลือที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 งาน 64 ตารางวา นางบุญตาเบิกความด้วยว่า ตนมิได้อยู่ในที่ดินพิพาท และโจทก์มิได้มีนางส้อยมาสืบให้เห็นว่า ก่อนที่จะโอนขายที่ดินพิพาทให้นางบุญตานั้นนางส้อยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างไรบ้าน ศาลฎีกาเห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า ซึ่งผู้ที่อ้างตนเป็นเจ้าของจะต้องเป็นผู้ยึดถือที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนตามความเป็นจริงจึงจะได้ซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏว่า นางส้อยผู้โอนขายที่ดินพิพาทให้กับนางบุญตาหรือนางบุญตาผู้โอนขายที่ดินพิพาทให้โจทก์และโจทก์เองได้เคยยึดถือที่ดินพิพาทตามความจริงแต่อย่างใดเลย ดังนั้นแม้โจทก์จะมีชื่อใน น.ส.3 หมาย จ.1 ในฐานะผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนางบุญตาก็ไม่ทำให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามบทกฎหมายดังกล่าว นางบุญตายังตอบคำถามค้านของทนายจำเลยด้วยว่า จำเลยเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2511 แสดงว่าจำเลยเป็นฝ่ายยึดถือที่ดินพิพาทมาก่อนที่นางบุญตาจะซื้อที่ดินพิพาทจากนางส้อย และคำเบิกความของนางบุญตาดังกล่าวนี้ก็เจือสมกับทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือทำประโยชน์โดยปลูกบ้านพิพาทอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2507 ตัวโจทก์เองก็เบิกความว่าที่พิพาทมีรั้วล้อมรอบ เมื่อจำเลยขอให้ศาลไปเดินเผชิญสืบที่ดินพิพาท ก็ปรากฏว่าที่พิพาทมีรั้วไม้โดยรอบ ดังที่ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2524 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามความเป็นจริงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2507 ก่อนที่นางส้อยจะขอออก น.ส.3 หมาย จ.1 และโอนขายที่พิพาทให้นางบุญตาจำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนางบุญตา จึงขัดแย้งกับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ ที่โจทก์ตั้งประเด็นมาในคำแก้ฎีกาว่า สิทธิครอบครองของจำเลยเป็นสิทธิที่ยังมิได้จดทะเบียนจะยกขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วมิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 นั้น เนื่องจาก น.ส.3 มิใช่หลักฐานที่แสดงว่าผู้มีชื่อใน น.ส.3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นในทางทะเบียนเช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 มาใช้ยันกับสิทธิของจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาล โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,800 บาทแทนจำเลยด้วย

Share