คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7119/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 บัญญัติไว้ว่าบุตรจำต้องเลี้ยงดูบิดามารดา การที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1กระทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ที่ 3 ตาย ถือว่าโจทก์ที่ 3 ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายจากบุตร โจทก์ที่ 3จึงชอบที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะทั้งในปัจจุบันและความหวังในอนาคตโดยผลแห่งกฎหมาย โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุหรือในอนาคตเด็กหญิง พ. จะได้อุปการะโจทก์ที่ 3 จริงหรือไม่ ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลย่อมกำหนดให้ตามสมควร ค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาท ซึ่งโจทก์ที่ 4 จ่ายให้แก่คณะแพทย์ของโรงพยาบาลในการทำการฝ่าตัดเพื่อช่วยชีวิตเด็กหญิง ส. นั้น ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นสินน้ำใจที่โจทก์ที่ 4 จ่ายให้แก่คณะแพทย์เองโดยที่คณะแพทย์ ไม่ได้เรียกร้องเป็นความพอใจของโจทก์ที่ 4 ที่ต้องการตอบแทน คณะแพทย์ที่ช่วยเหลือบุตรสาวของตน การจ่ายนี้ไม่อาจกำหนดจำนวนที่แน่นอน ไม่มีหลักเกณฑ์และกฎหมายรองรับ จึงไม่อาจเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ การที่เด็กหญิง ส. บาดเจ็บสาหัสต้องหยุดเรียนไปนานจึงเป็นการจำเป็นต้องจ้างครูมาสอนพิเศษ ส่วนการเรียนเปียโนก็เป็นการฟื้นฟูจิตใจของเด็กหญิงส. ซึ่งบาดเจ็บสาหัสและต้องกระทบกระเทือนจิตใจจากใบหน้าที่เสียโฉม ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้เสียหายชอบที่จะได้รับการชดใช้ จากผู้กระทำละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดจำนวน 2,119,578 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,100,587 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 4 ได้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่จำนวน 370,000 บาท โจทก์ทั้งสี่จึงได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 392,224 บาทแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 537,712 บาท และแก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน230,785 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2534 อันเป็นวันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 437,712 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่4 พฤษภาคม 2534 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา โจทก์ที่ 1 ได้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ยี่ห้อเบนซ์ หมายเลขทะเบียน 3ช-6289กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนสายรังสิต-นครนายก มุ่งหน้าไปจังหวัดนครนายก ถึงที่เกิดเหตุระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 18 ถึง 19 ตำบลลำผักกูด อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เกิดเฉี่ยวชนกับรถบรรทุก 10 ล้อ หมายเลขทะเบียน 80-2116 นครนายก มีนายเอื้อน ศรีพิทักษ์ เป็นคนขับซึ่งแล่นสวนทางมาด้วยความประมาท ทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เสียหลักพลัดตกลงไปในคูน้ำข้างถนนเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เด็กหญิงอลิษา ชอบอิสระ เด็กชายต่อพงศ์ชอบอิสระ เด็กหญิงพรพัชนี กาญจนสันติกุล และเด็กหญิงสุพินดาจารุมณีโรจน์ ซึ่งนั่งไปในรถของโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัส และต่อมาเด็กหญิงพรพัชนีได้ถึงแก่ความตายรถบรรทุก 10 ล้อคันเกิดเหตุมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อมาจากจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่า นายเอื้อนคนขับรถบรรทุก 10 ล้อคันเกิดเหตุเป็นลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อและเป็นผู้ครอบครองรถบรรทุก 10 ล้อคันเกิดเหตุ และนายเอื้อนเป็นลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1
สำหรับค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 3 นั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2ฎีกาว่า โจทก์ที่ 3 คาดคะเนไว้เกินความเป็นจริง เป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งไม่แน่ว่าเด็กหญิงพรพัชนีจะอุปการะโจทก์ที่ 3 หรือไม่และจะอุปการะเดือนละเท่าใดเป็นเวลาถึง 10 ปีหรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 บัญญัติไว้ว่าบุตรจำต้องเลี้ยงดูบิดามารดา การที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1กระทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ที่ 3 ตาย ถือว่าโจทก์ที่ 3ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายจากบุตร โจทก์ที่ 3 จึงชอบที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะทั้งในปัจจุบันและความหวังในอนาคตโดยผลแห่งกฎหมายโดยไม่จะต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุหรือในอนาคต เด็กหญิงพรพัชนีจะได้อุปการะโจทก์ที่ 3 จริงหรือไม่ ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลย่อมกำหนดให้ตามสมควร ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้เป็นเงิน 500,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ที่ 4 เสียหายเพียงใด สำหรับค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาท ซึ่งโจทก์ที่ 4 จ่ายให้แก่คณะแพทย์ของโรงพยาบาลวิภาวดีในการทำการผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิตเด็กหญิงสุพินดานั้น เห็นว่า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นสินน้ำใจที่โจทก์ที่ 4 จ่ายให้แก่คณะแพทย์เองโดยที่คณะแพทย์ไม่ได้เรียกร้องเป็นความพอใจของโจทก์ที่ 4 ที่ต้องการตอบแทนคณะแพทย์ที่ช่วยเหลือบุตรสาวของตน การจ่ายนี้ไม่อาจกำหนดจำนวนที่แน่นอน ไม่มีหลักเกณฑ์และกฎหมายรองรับ จึงไม่อาจเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอีกว่าเด็กหญิงสุพินดาต้องหน้าเสียโฉมติดตัวหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ใบหน้าของเด็กหญิงสุพินดาย่อมต้องเสียโฉมติดตัวไปตลอด การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 100,000 บาท นับว่าเหมาะสมดีแล้ว สำหรับค่าจ้างครูมาสอนพิเศษแก่เด็กหญิงสุพินดาจำนวน 30,000 บาท นั้น โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 4 เบิกความยืนยันว่าได้ว่าจ้างครูมาสอนเด็กหญิงสุพินดาเป็นพิเศษเพราะต้องหยุดเรียนไป 1 ภาคการศึกษา จะเรียนไม่ทันเพื่อน รวมทั้งครูสอนเปียโนด้วยเป็นเงิน 50,000 บาท เห็นว่า การที่เด็กหญิงสุพินดาบาดเจ็บสาหัสต้องหยุดเรียนไปนาน จึงเป็นการจำเป็นต้องจ้างครูมาสอนพิเศษส่วนการเรียนเปียโนก็เป็นการฟื้นฟูจิตใจของเด็กหญิงสุพินดาซึ่งบาดเจ็บสาหัส และต้องกระทบกระเทือนจิตใจจากใบหน้าที่เสียโฉมถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้เสียหายชอบที่จะได้รับการชดใช้ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานมาแสดง แต่น่าเชื่อว่าได้ใช้จ่ายไปจริง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำนวน 30,000 บาท นับว่าเหมาะสมดีแล้ว คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองยกเว้นเฉพาะเรื่องค่าแพทย์จำนวน 40,000 บาทที่โจทก์ที่ 4 จ่ายเป็นการส่วนตัวแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 190,785 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share