คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4064/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อธิบดีกรมอัยการมีอำนาจดำเนินคดีได้ทุกศาลตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการฯ ฉะนั้น อธิบดีกรมอัยการจึงมีอำนาจสั่งให้พนักงานอัยการจังหวัดส่งสำนวนไปให้พิจารณาได้โดยไม่จำต้องเป็นผู้รับสำนวนการสอบสวนและความเห็นจากพนักงานสอบสวนโดยตรงตามมาตรา 143 และ 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
คดีที่พนักงานอัยการจังหวัดได้ทำคำสั่งไม่ฟ้องโดยยังไม่ได้ส่งสำนวนและคำสั่งเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด ถือได้ว่า สำนวนการสอบสวนยังอยู่ในอำนาจของพนักงานอัยการ ย่อมแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ อธิบดีกรมอัยการจึงมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องผู้ต้องหานั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157

จำเลยให้การปฏิเสธ กับตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องว่า พนักงานอัยการจังหวัดมีความเห็นและมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย อธิบดีกรมอัยการมีคำสั่งให้ฟ้องจำเลยโดยที่ผู้ว่าราชการจังหวัด มิได้โต้แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการจังหวัด คำสั่งของอธิบดีกรมอัยการเป็นการก้าวล่วงข้ามขั้นตอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พนักงานอัยการจังหวัดเป็นผู้ดำเนินคดีและได้มีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว ต้องเสนอสำนวนการสอบสวนและคำสั่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดการที่อธิบดีกรมอัยการเรียกสำนวนการสอบสวนและคำสั่งของพนักงานอัยการจังหวัดมาพิจารณาโดยมิได้ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498มาตรา 12 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2502 มาตรา 7 วรรคแรก บัญญัติว่า อธิบดีและรองอธิบดีมีอำนาจดำเนินคดีได้ทุกศาล อัยการพิเศษประจำเขตมีอำนาจดำเนินคดีได้ทุกศาลในเขตพนักงานอัยการผู้อื่นมีอำนาจดำเนินคดีได้เฉพาะศาลแห่งท้องที่ที่พนักงานอัยการผู้นั้นรับราชการประจำเว้นแต่ ฯลฯ และมาตรา 15 บัญญัติว่า ในการใช้อำนาจหรือกระทำหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่น ให้อธิบดีมีอำนาจทำคำสั่งเฉพาะเรื่อง หรือวางระเบียบให้พนักงานอัยการปฏิบัติได้ ดังนี้เห็นว่าอธิบดีกรมอัยการมีอำนาจดำเนินคดีและมีอำนาจที่จะสั่งให้พนักงานอัยการจังหวัดส่งสำนวนไปให้พิจารณาได้ ส่วนสำนวนการสอบสวนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 และ 145 มิได้ บัญญัติห้ามมิให้อธิบดีกรมอัยการทำคำสั่งฟ้องหรือคำสั่งไม่ฟ้องในทุกคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 145 กล่าวถึงแต่เฉพาะในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ หาได้หมายความรวมถึงในกรณีที่อธิบดีกรมอัยการมีคำสั่งฟ้องด้วยไม่ ดังนั้น เมื่ออธิบดีกรมอัยการเรียกสำนวนการสอบสวนมาพิจารณาและออกคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา จึงอยู่ในอำนาจที่จะกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้รับสำนวนการสอบสวนและความเห็นจากพนักงานสอบสวนโดยตรง

เมื่อพนักงานอัยการจังหวัดได้ทำคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาแล้ว พนักงานอัยการจังหวัดยังไม่ได้ส่งสำนวนและคำสั่งไปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด ถือได้ว่าสำนวนการสอบสวนและคำสั่งยังอยู่ในอำนาจของพนักงานอัยการ ย่อมจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ก่อนเสนอสำนวนการสอบสวนและคำสั่งต่อผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดีกรมอัยการจึงมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาได้คำสั่งฟ้องของอธิบดีกรมอัยการจึงชอบด้วยกฎหมาย

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาใหม่

Share