แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์โดยทำสัญญากับกรมอาชีวศึกษาว่า เมื่อเสร็จการศึกษาไม่ว่าการศึกษาจะสำเร็จหรือไม่ จำเลยที่ 1 จะกลับมารับราชการในกรมอาชีวศึกษาหรือในกระทรวง ทบวง กรม อื่น ตามที่ทางราชการเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของเวลาที่ได้รับทุน ถ้าผิดสัญญาจำเลยที่ 1จะชดใช้คืนทุนและเงินที่ได้รับในระหว่างการศึกษาพร้อมเบี้ยปรับเมื่อจำเลยที่ 1 กลับมารับราชการต่อแล้วลาออกจากราชการในขณะที่รับราชการชดใช้ทุนไม่ครบตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ผิดนัดแม้ภายหลังจำเลยที่ 1 จะกลับเข้ารับราชการใหม่แต่โจทก์ก็มิได้ยินยอมให้จำเลยเข้ารับราชการเพื่อชดใช้ทุนต่อ จึงไม่อาจนับเวลาราชการต่อกันเพื่อชดใช้ทุนตามสัญญาได้ จำเลยที่ 1 ไม่หลุดพ้นความรับผิด จำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการใหม่เป็นเวลามากกว่าเวลาราชการที่ยังขาดตามสัญญาเกือบเท่าตัว เมื่อคำนึงถึงเวลาราชการที่ขาดและเวลาราชการที่จำเลยที่ 1 เข้ารับราชการใหม่ประกอบกับทางได้เสียของโจทก์แล้ว ศาลไม่กำหนดเบี้ยปรับให้ ตามสัญญาระบุว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินที่ต้องชำระคืนและเบี้ยปรับแก่โจทก์ ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ยอมให้คิดดอกเบี้ยจากเงินนั้น เมื่อโจทก์เคยแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแล้วแต่ไม่พบตัวจำเลยที่ 1 และภายหลังที่โจทก์รับจำเลยที่ 1 เข้ารับราชการใหม่ โจทก์มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้ความแน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งจากโจทก์แล้วเมื่อใด จึงชอบที่จะให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ปัญหาการคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศเป็นเงินไทยเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดให้ถูกต้องโดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ศาลฎีกาพิพากษาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีฐานะเทียบเท่ากรม วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่เป็นส่วนราชการของโจทก์ด้วยและเปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาเขตเทคนิคภาคพายัพ จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการครู ตำแหน่งครูตรีวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศนิวซีแลนด์ โดยทุนรัฐบาลนิวซีแลนด์ภายใต้แผนโคลัมโบ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับกรมอาชีวศึกษาว่า เมื่อเสร็จการศึกษาไม่ว่าการศึกษาจะสำเร็จหรือไม่ จำเลยที่ 1 จะกลับมารับราชการในวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพจังหวัดเชียงใหม่ หรือในกระทรวงทบวงกรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควร เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับทุนหากผิดสัญญายอมชดใช้คืนเงินทุนและเงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่ได้รับจากกรมอาชีวศึกษา พร้อมเบี้ยปรับคืนภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้ง ถ้าไม่ชำระภายในกำหนดดังกล่าวยอมเสียดอกเบี้ยของเงินค้างชำระอีกร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 กลับมารับราชการเพื่อใช้ทุนแล้วลาออกจากราชการเหลือเวลาที่ต้องใช้ทุนอีก 2 ปี 6 เดือน12 วัน จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวน 144,644.10 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาเพราะได้รับราชการชดใช้ทุนเกินกว่าที่กำหนดในสัญญาแล้ว ทุนที่จำเลยที่ 1ได้รับเป็นทุนของประเทศนิวซีแลนด์ ไม่ใช่ของรัฐบาลไทย และมีจำนวนน้อยกว่าที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง โจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราไม่ถูกต้องและคิดดอกเบี้ยกับเบี้ยปรับสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน28,232.64 บาท และเงินเหรียญนิวซีแลนด์อีก 3,453.93 เหรียญโดยให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ได้มีการชำระพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนที่คำนวณได้แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 38,232.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาว่าจำเลยที่ 1ผิดสัญญาหรือไม่และจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ทุนและเงินเดือนกับเบี้ยปรับแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการเอกสารหมาย ปจ.12 ข้อ 3 ระบุว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เสร็จการศึกษาไม่ว่าการศึกษาจะสำเร็จหรือไม่ จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะกลับมารับราชการต่อไปในกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ หรือในกระทรวงทบวงกรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือน และข้อ 4 ระบุว่าถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจำเลยที่ 1 จะชดใช้คืนทุนและเงินเดือนที่ได้รับในระหว่างไปศึกษา พร้อมเบี้ยปรับอีกจำนวนหนึ่งเท่ากับเงินที่จะต้องชดใช้คืน โดยลดลงตามส่วนของเวลาที่จำเลยที่ 1รับราชการไปบ้างแล้ว เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ลาไปศึกษาต่างประเทศเป็นเวลา 2 ปี 4 เดือน 13 วัน จำเลยที่ 1 จึงต้องกลับมารับราชการชดใช้ทุนเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน 26 วัน แต่จำเลยที่ 1 รับราชการชดใช้ทุนได้เป็นเวลา 2 ปี 2 เดือน 14 วัน ยังขาดเวลารับราชการชดใช้ทุนอีก 2 ปี 6 เดือน 12 วัน จำเลยที่ 1 ได้ลาออกจากราชการไปจำเลยที่ 1 จึงผิดสัญญา ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า หลังจากจำเลยที่ 1ลาออกจากราชการไปแล้วจำเลยที่ 1 ได้ขอกลับเข้ารับราชการเพื่อชดใช้ทุนต่ออีก และโจทก์ยินยอมด้วยนั้นก็ปรากฏตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.19 ว่า โจทก์เพียงมีคำสั่งบรรจุจำเลยที่ 1 ซึ่งลาออกจากราชการกลับเข้ารับราชการใหม่เท่านั้น โจทก์หาได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เข้ารับราชการเพื่อชดใช้ทุนต่อตามที่จำเลยที่ 1ขอไม่ จึงไม่อาจนับเวลารับราชการติดต่อกันเพื่อชดใช้ทุนตามสัญญาได้ จำเลยที่ 1 ไม่หลุดพ้นจากความรับผิด แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1รับราชการชดใช้ทุนไปแล้วเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือน 14 วัน ยังขาดเวลาราชการตามสัญญาอยู่อีกเพียง 2 ปี 6 เดือน 12 วัน จำเลยที่ 1จึงต้องชดใช้คืนทุนและเงินเดือนโดยลดลงตามส่วนเป็นเงินทุน3,453.93 เหรียญนิวซีแลนด์ และเงินเดือน 28,232.64 บาท ตามเอกสารหมาย ปจ.11 ส่วนเงินเบี้ยปรับตามสัญญานั้น ได้ความว่าภายหลังจากผิดสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 ได้กลับเข้ารับราชการใหม่อีกเป็นเวลา 4 ปี 1 เดือน 17 วัน มากกว่าเวลาราชการที่ยังขาดตามสัญญาอยู่เกือบเท่าตัว แม้ไม่อาจจะนับเวลาราชการที่จำเลยที่ 1เข้ารับราชการใหม่ภายหลังจากผิดสัญญาเป็นเวลารับราชการเพื่อชดใช้ทุนต่อได้ก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงเวลาราชการที่ยังขาดตามสัญญาอยู่และเวลาราชการที่จำเลยที่ 1 เข้ารับราชการใหม่หลังจากผิดสัญญาประกอบกับทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างแล้ว เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดเบี้ยปรับให้นั้นชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยที่ 1ชดใช้เบี้ยปรับให้โจทก์อีก 10,000 บาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน สำหรับปัญหาเรื่องดอกเบี้ยที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินที่ต้องชดใช้นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2523 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม2529 นั้น เห็นว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย ปจ.12 ข้อ 5 ระบุว่า เงินที่จะต้องชดใช้และเบี้ยปรับตามสัญญานี้ จำเลยที่ 1 จะชำระให้ทั้งหมดภายในกำหนด 30 วัน ถัดจากวันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระให้ภายในกำหนด หรือชำระไม่ครบ จำเลยที่ 1 ยอมให้คิดดอกเบี้ยจากเงินที่ยังมิได้ชำระอีกในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีทางพิจารณาได้ความจากคำของนายดิเรก มานะพงษ์ พยานโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาเขตเทคนิคภาคพายัพว่า พยานได้ติดต่อให้จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว จึงแจ้งให้ภรรยาจำเลยที่ 1ทราบ ต่อมาวันที่ 7 มกราคม 2523 จำเลยที่ 1 กลับจากต่างประเทศและยื่นเรื่องราวขอยกเลิกการลาออกจากราชการ อ้างว่าบิดายังขายที่ดินนำเงินมาชำระไม่ได้ ขอกลับเข้ารับราชการเพื่อชดใช้ทุนตามเอกสารหมาย จ.9 แต่โจทก์ก็ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาออกแล้ววันที่ 26 กันยายน 2523 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการวิทยาเขตเทคนิคภาคพายัพ ขอกลับเข้ารับราชการอีก อ้างว่าไม่อาจเอาเงินมาชำระชดใช้ทุนได้ ตามเอกสารหมาย จ.13 และหลังจากได้บรรจุจำเลยที่ 1 เข้ารับราชการใหม่ โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ทุนคืน ตามเอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.22แต่ทางพิจารณาไม่ได้ความแน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งจากโจทก์แล้วตั้งแต่เมื่อใด จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 9สิงหาคม 2523 และเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันดังกล่าวไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญนิวซีแลนด์เป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ได้มีการชำระเงินนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การคิดอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวน่าจะไม่สะดวกแก่การบังคับคดี สมควรแก้ไขเป็นอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ศาลนี้พิพากษา ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3352/2529 ระหว่างบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แอสเชอรันตี้แอนด์ รีแอสเชอรันติคแคนเตอร์ จำกัด โจทก์ บริษัทบางกอกสหประกันภัย จำกัด กับพวก จำเลย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 28,232.64 บาท และเงินเหรียญนิวซีแลนด์จำนวน 3,453.93เหรียญแก่โจทก์ สำหรับเงินเหรียญนิวซีแลนด์ให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ศาลนี้พิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มีก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา แต่ต้องไม่เกินจำนวน 44,089.41 บาท ตามที่โจทก์ฟ้องนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2