คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2315/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกล่าวถ้อยคำว่า หลวงพ่อวัดบึงและหลวงพ่อวัดธาตุใช้ประชาชนบังหน้าต่อต้านพระที่สุสาน เนื่องจากจำเลยไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้เสียหายที่ต้องการขับไล่พระภิกษุ ย. ออกไปจากป่าช้าแห่งหนึ่ง จึงได้พูดวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นตามความรู้สึกนึกคิดของตน ถ้อยคำที่พูดก็มิได้รุนแรงนักทั้งเป็นเรื่องของส่วนรวมซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไปอันประชาชนย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้บังอาจพูดใส่ความพระครูไพโรจน์พัฒนกิจเจ้าอาวาสวัดบึงและพระครูบุญศิริโสภณ เจ้าอาวาสวัดธาตุ ต่อหน้าบุคคลหลายคนว่า “หลวงพ่อวัดบึงและวัดธาตุใช้ประชาชนบังหน้าต่อต้านพระที่สุสานป่าช้า” ซึ่งหมายความว่า พระครูทั้งสองรูปดังกล่าวยุยงส่งเสริมสนับสนุนใช้ให้ประชาชน ขับไล่พระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งได้ธุดงค์มาพักอยู่ที่สุสานป่าช้าบ้านสนม ให้ออกไปจากเขตหมู่บ้านดังกล่าว ความจริงแล้วพระครูทั้งสองมิได้กระทำเช่นนั้น การกระทำของจำเลยน่าจะทำให้พระครูทั้งสองเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 7

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยได้กล่าวถ้อยคำตามฟ้องต่อหน้าบุคคลหลายคน แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต อันเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคล อันเป็นวิสัยของประชาชนพึงกระทำ ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาว่า มูลเหตุที่จะได้เกิดคดีนี้ขึ้นเนื่องจากได้มีพระภิกษุเยื้อนธุดงค์มาพักอยู่ที่ป่าช้าบ้านสนม พระครูไพโรจน์ฯ ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบึงและเจ้าคณะตำบลสนมไม่พอใจ เพราะพระภิกษุเยื้อนเป็นพระธรรมยุติเกรงว่าพระต่างนิกายเข้ามาอยู่พุทธบริษัทจะแตกความสามัคคีกัน จึงมีหนังสือแจ้งให้พระภิกษุเยื้อนออกไป พระภิกษุเยื้อนไม่ยอมออก ผู้เสียหายจึงมีหนังสือรายงานเจ้าคณะอำเภอขอให้ขับไล่พระภิกษุเยื้อนออกไปจากเขตอำเภอสนม การกระทำของผู้เสียหายจึงเกิดความไม่พอใจแก่ราษฎรชาวอำเภอสนมเป็นบางส่วนราษฎรจึงแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนผู้เสียหายให้ขับไล่พระภิกษุเยื้อน แต่อีกฝ่ายหนึ่งคัดค้าน จนทางราชการต้องหาทางประนีประนอมเพื่อขจัดข้อขัดแย้งดังกล่าว โดยเรียกราษฎรมาประชุม ที่ประชุมตกลงให้รื้อเพิงออกจากป่าช้า ต่อมาในวันเกิดเหตุจำเลยเข้าไปนั่งในร้านกาแฟและขอหนังสือบันทึกเรื่องการย้ายเพิงออกจากป่าช้าซึ่งมีคนนำมาให้นายคีมเอาไปอ่าน แล้วจำเลยพูดต่อหน้าบุคคลอื่นว่า หลวงพ่อวัดบึงและหลวงพ่อวัดธาตุใช้ประชาชนบังหน้าต่อต้านพระที่สุสาน แล้ววินิจฉัยว่า เหตุที่จำเลยกล่าวถ้อยคำที่มีใจความเช่นนั้น ก็เนื่องจากจำเลยไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้เสียหายและบุคคลฝ่ายที่ต้องการให้ขับไล่พระภิกษุเยื้อนออกไปจากป่าช้าบ้านสนม เมื่ออ่านบันทึกที่ให้รื้อเพิงที่ป่าช้าออกจึงได้พูดวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นตามความรู้สึกนึกคิดของตน และถ้อยคำที่พูดก็ไม่ได้รุนแรงอะไรนักไม่น่าจะถึงกับทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นประชาชนชาวตำบลสนมก็รู้กันอยู่ทั่วไป ทั้งกรณีไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของผู้เสียหายเอง หากแต่เป็นเรื่องของส่วนรวมซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไป ประชาชนจึงย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ การที่จำเลยพูดวิจารณ์ไปเช่นนั้นจึงเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

พิพากษายืน

Share