แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่เจ้าของสถานที่เช่าทำสัญญากู้ไว้แก่ผู้ตกลงเช่ามีกำหนดชำระคืนแน่นอนในเดือนปีนั้น เมื่อครบกำหนดแล้วแม้จะเป็นเงินมัดจำก็ต้องคืน
คำให้การต่อสู้คดีแพ่งต้องแสดงเหตุแห่งข้อต่อสู้ของตน จำเลยจะกล่าวในคำให้การแต่ว่าโจทก์ผิดสัญญา โดยไม่ได้กล่าวว่าโจทก์กระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดอันเป็นการผิดสัญญา ดังนี้ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา177
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 10,000 บาท สัญญาชำระคืนในเดือนมกราคม 2488 ตามสำเนาท้ายฟ้อง จำเลยต่อสู้ว่าได้รับเงิน 10,000 บาท ไปจากโจทก์ตามสัญญากู้ท้ายฟ้องจริงแต่ไม่ใช่เงินกู้เป็นเงินวางประจำการเช่าตึกแถวของจำเลยในการตกลงเช่าโจทก์ จำเลยได้มีสัญญาต่อกันฉบับหนึ่ง ต่อมาโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงริบเงิน 10,000 บาทนั้น สัญญาที่โจทก์ฟ้องเป็นนิติกรรมอำพราง
ศาลแพ่งฟังว่าในวันเดียวกันโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญากัน 3 ฉบับคือ 1. โจทก์ตกลงเช่าตึกของจำเลยนับแต่ผู้เช่าเดิมถูกศาลพิพากษาให้ออกไป 2. เมื่อผู้เช่าเดิมออกไปแล้ว โจทก์ยอมชำระค่าเสียหายทดแทนให้จำเลย 20,000 บาท ถ้าโจทก์ไม่เข้าครอบครองด้วยเหตุใด ๆ หรือไม่ชำระเงิน 20,000 บาทนี้ สัญญาเช่าเป็นอันเลิก โจทก์ต้องเสียค่าเสียหายให้จำเลย 10,000 บาท โดยยอมให้หักกับหนี้เงินกู้3. สัญญากู้ที่โจทก์ฟ้อง ต่อมาจำเลยได้ฟ้องผู้เช่าเดิมและบริวารจน 8 กุมภาพันธ์ 2489 จำเลยจึงได้ครอบครองสถานที่เช่า เห็นว่าเงิน 10,000 บาทนี้ เป็นทำนองเงินมัดจำเช่าตึก โจทก์ไม่อาจเข้าครอบครองที่เช่าได้ โจทก์ไม่ผิดสัญญา จำเลยต้องคืนมัดจำ รับผิดตามสัญญากู้ และไม่ใช่นิติกรรมอำพราง พิพากษาให้จำเลยใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2488
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ไม่ใช่เรื่องเงินกู้ ทางพิจารณาได้ความต่างกับฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์สัญญาทั้ง 3 ฉบับนั้นแล้ว สำหรับสัญญากู้มีความว่าจำเลยจะต้องชำระคืนในมกราคม 2488 นั้น แม้จะเป็นมัดจำในการเช่า จำเลยก็ต้องส่งคืน จำเลยเป็นแต่กล่าวในคำให้การว่าโจทก์ผิดสัญญาแต่หาได้กล่าวว่าโจทก์กระทำหรือไม่กระทำอย่างใดอันเป็นการผิดสัญญา นั้นไม่ จำเลยไม่แสดงเหตุแห่งข้อต่อสู้ของตนไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นขึ้นและจำเลยไม่พ้นความรับผิด
พิพากษากลับให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น