คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1841/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2519 จำเลยที่ 1 ออกเช็คโดยไม่ลงวันที่แล้วนำไปขายให้โจทก์โดยขอเวลาไว้ 3 ปี จึงให้โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินระหว่างนี้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตลอดมาจนถึงเดือนตุลาคม2520 จึงหยุดชำระ โจทก์จึงลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2520 ในเช็คแล้วเก็บรอไว้จนครบ 3 ปี จึงนำเช็คไปเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2521 การที่โจทก์ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2520 ในเช็ค จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตตามข้อตกลง และเป็นกรณีจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็ค คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องว่า ‘จำเลยที่ 5 ถึงแก่กรรมเสียแล้วโจทก์จึงขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 5’ ดังนี้ หาใช่เป็นการแสดงความประสงค์ปลดหนี้ให้จำเลยที่ 5 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้นำเช็คลงวันที่ล่วงหน้า สั่งจ่ายเงินฉบับละหนึ่งล้านบาทมาแลกเงินจากโจทก์ ตามสัญญาขายลดเช็คท้ายฟ้องเช็ค 2 ฉบับนี้มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 สลักหลังค้ำประกันเมื่อถึงกำหนดเวลาชำระเงินตามเช็ค โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่าย จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชำระเงินจำนวนตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ 400,000 บาท โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2และที่ 5 ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คฉบับพิพาทและสลักหลังส่งมอบให้โจทก์โดยมิได้ลงวันที่ ทั้งนี้โดยโจทก์และจำเลยที่ 1ไม่ประสงค์ให้นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน หากแต่มุ่งประสงค์ขอให้มีการบังคับกันตามสัญญากู้ที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ จำเลยที่ 6 ลงชื่อสลักหลังเช็คพิพาทในฐานะกรรมการบริษัทไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว โจทก์จดวันที่อันไม่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาทโดยพลการ เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 ฉะนั้นเมื่อนับแต่วันที่จำเลยออกเช็คให้โจทก์ถึงวันฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 1002 แล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันใช้เงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยที่ 6 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6ร่วมกันใช้เงิน 1,600,000 บาทให้โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 6 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาทให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ลงชื่อเป็นผู้สลักหลัง เช็คดังกล่าวไม่ได้ลงวันที่ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์ ตามสัญญาขายลดเช็คและสัญญาใช้เงินลงวันที่ 19 ธันวาคม2517 จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เป็นรายเดือนตลอดมาจนถึงเดือนตุลาคม 2520 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์จึงลงวันที่ 30พฤศจิกายน 2520 ในเช็คทั้งสองฉบับ ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2521โจทก์นำเช็คพิพาท 2 ฉบับไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน

ที่จำเลยที่ 6 ฎีกาว่าฟ้องขาดอายุความ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ออกเช็คโดยไม่ได้ลงวันที่ แต่ก็ได้ความจากนายสงวน ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทโจทก์ว่า ตอนจำเลยที่ 3 นำเช็คของจำเลยที่ 1 มาขาย ได้ขอเวลาไว้ 3 ปี จึงค่อยนำเช็คไปขึ้นเงิน เพราะอยู่ระหว่างจำเลยที่ 1 กำลังลงทุน จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตลอดมาจนถึงเดือนตุลาคม 2520 ก็หยุดชำระเพราะจำเลยที่ 3หลบหนี จำเลยที่ 6 ก็นำสืบรับว่าเป็นช่วงที่เริ่มก่อสร้างโรงงานบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตลอดมาจริง ดังนี้ฟังได้ว่าเหตุที่ไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 ลงวันที่ในเช็คเพราะมีข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ขอเวลา 3 ปี ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ไม่ชำระดอกเบี้ยเดือนตุลาคม 2520ให้โจทก์ โจทก์จึงลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2520 ในเช็คพิพาททั้งสองฉบับแล้วเก็บรอไว้จนครบ 3 ปี จึงนำเช็คไปเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่ 3มกราคม 2521 การที่โจทก์ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2520 ลงในเช็คจึงเป็นการกระทำโดยสุจริตตามข้อตกลง และเป็นกรณีจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็ค คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

จำเลยที่ 6 ฎีกาว่า เมื่อโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 5 เพราะจำเลยที่ 5ตาย กรณีเป็นการปลดหนี้ตามมาตรา 293 จำเลยที่ 6 ย่อมได้รับประโยชน์เท่ากับหนี้ของจำเลยที่ 5 ซึ่งโจทก์ได้ปลดให้เห็นว่า ข้อความในคำบอกกล่าวโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 โจทก์กล่าวเพียงว่า “คดีนี้พนักงานศาลรายงานว่า จำเลยที่ 5 ถึงแก่กรรมเสียแล้ว โจทก์จึงขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 5″ดังนี้ คำบอกกล่าวของโจทก์หามีข้อความแสดงความประสงค์ปลดหนี้ให้จำเลยที่ 5 ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ไม่มีผลเป็นการปลดหนี้ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share