คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยนำหมายเคลื่อนที่จากแห่งหนึ่งไปถึงอีกแห่งหนึ่งโดยผ่านเข้าเขตด่านป่าไม้ของอีกแห่งหนึ่งนั้น โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นการนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ต่อไปภายหลังที่ไปถึงที่อันระบุไว้ในใบอนุญาตหรือไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 38 (1) หรือ (2) อันจะทำให้เป็นความผิดตามมาตรา 39, 71 จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้
(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1420/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้นำหวายเส้นเล็กซึ่งไม่ใช่หวายตะค้าทองซึ่งเป็นของป่าเคลื่อนที่โดยบรรทุกรถยนต์จากอำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคายไปยังตำบลปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ผ่านเข้าเขตด่านป่าไม้จังหวัดนครพนมโดยไม่มีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๓๙, ๗๑ ซึ่งแก้ไขแล้วและขอให้ริบหวายของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามบทบัญญัติของมาตรา ๓๘ ให้ใช้บังคับถึงการนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ต่อไปภายหลังที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งของ (๑) ถึง (๔) ดังนั้นผู้ที่นำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่จะต้องมีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับไปด้วยตามมาตรา ๓๙ ก็ต่อเมื่อปรากฏความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๘ สำหรับคดีนี้จะต้องปรากฏว่า จำเลยนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ต่อไปภายหลังที่ไปถึงที่อันระบุไว้ในใบอนุญาตแล้วตาม (๑) หรือนำไม้ที่ทำโดยไม่ต้องรับอนุญาตไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้วตาม (๒) ของมาตรา ๓๘ เพราะหากเป็นการนำไม้หรือของป่าที่ได้รับอนุญาต เมื่อยังไม่ไปถึงที่อันระบุไว้ในใบอนุญาต หรือการนำไม้ที่ทำโดยไม่ต้องรับอนุญาต เมื่อยังไม่ไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรก ก็ยังไม่จำต้องมีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับตามมาตรา ๓๙ การที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยนำหวายเคลื่อนที่จากจังหวัดหนองคายมาถึงอำเภอปลาปากจังหวัดนครพนมโดยผ่านเข้าเขตด่านป่าไม้จังหวัดนครพนมโดยไม่ได้ระบุว่าเป็นการนำไม้เคลื่อนที่ต่อไปภายหลังที่ไปถึงที่อันระบุไว้ในใบอนุญาตหรือไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรก ตามมาตรา ๓๘ (๑) หรือ (๒) จึงเป็นฟ้องที่บรรยายข้อเท็จจริงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕๘ (๕) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๒๐/๒๕๐๙ ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสิงห์บุรี โจทก์ นายชุ้น โพธิทอง จำเลย
พิพากษายืน

Share