คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1611/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การใช้วิธีการสำหรับเด็กตาม ป.อ. มาตรา 74 (2) เป็นกรณีที่ศาลเห็นว่าบิดามารดาสามารถดูแลเด็กนั้นได้ แต่ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่คัดค้านปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยังมีประวัติกระทำความผิดในคดีอื่นฐานร่วมกันลักทรัพย์ของผู้อื่นในเวลากลางคืน โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะอันแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย ไม่สำนึกหรือเกรงกลัวต่อโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ไม่น่าจะอยู่ในวิสัยที่บิดามารดาของจำเลยที่ 2 จะสามารถดูแลได้ การที่ศาลใช้ดุลพินิจส่งตัวจำเลยที่ 2 เข้ารับการศึกษาและฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น จึงเป็นการใช้วิธีการสำหรับเด็กที่เหมาะสมแก่จำเลยที่ 2 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 335
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (8) (ที่ถูกมาตรา 335 (1) (7) (8) วรรคสอง) ประกอบมาตรา 80, 83 จำเลยทั้งสองอายุ 16 ปีเศษ เห็นสมควรใช้วิธีการสำหรับเด็กโดยมอบตัวจำเลยที่ 1 แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครอง และวางข้อกำหนดให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองระวังมิให้จำเลยที่ 1 ก่อเหตุร้ายภายในกำหนด 2 ปี มิฉะนั้นจะต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละ 1,000 บาท เมื่อก่อเหตุร้ายขึ้น สำหรับจำเลยที่ 2 เคยมีประวัติการกระทำผิดมาก่อน จึงเห็นสมควรส่งตัวจำเลยที่ 2 เข้ารับการศึกษาและฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น จนกว่าจะมีอายุครบ 18 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้มอบตัวให้แก่บิดามารดาของจำเลยที่ 2 โดยวางข้อกำหนดให้ระวังมิให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (2) นั้น เห็นว่า การใช้วิธีการสำหรับเด็กตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นกรณีที่ศาลเห็นว่าบิดามารดาสามารถดูแลเด็กนั้นได้แต่ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่คัดค้าน ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยังมีประวัติกระทำความผิดในคดีอื่นฐานร่วมกันลักทรัพย์ของผู้อื่นในเวลากลางคืนโดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ อันแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย ไม่สำนึกหรือเกรงกลัวต่อโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ไม่น่าจะอยู่ในวิสัยที่บิดามารดาของจำเลยที่ 2 จะสามารถดูแลได้ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจส่งตัวจำเลยที่ 2 เข้ารับการศึกษาและฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น จึงเป็นการใช้วิธีการสำหรับเด็กที่เหมาะสมแก่จำเลยที่ 2 แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share