แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กระทำผิดระเบียบโดยมาทำงานสาย จำเลยได้ออกคำเตือนเป็นหนังสือให้โจทก์ลงชื่อรับทราบ แต่โจทก์ขัดขืนและโต้เถียงกับผู้จัดการของจำเลย ดังนี้จำเลยมีวิธีการแจ้งให้โจทก์ทราบคำเตือนโดยวิธีอื่นได้ เช่น แจ้งด้วยวาจาหรือปิดประกาศคำเตือนให้ทราบการขัดขืนไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือนจึงมิใช่การฝ่าฝืนคำสั่งระเบียบข้อบังคับเป็นการร้ายแรง แม้โจทก์ได้โต้เถียงกับผู้จัดการด้วยก็ไม่ได้ความว่าเป็นเรื่องอื่นนอกเหนือจากผู้จัดการจะให้โจทก์ลงชื่อรับทราบคำเตือนจึงจะปรับการกระทำของโจทก์ขึ้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งระเบียบข้อบังคับเป็นการร้ายแรงหาได้ไม่ จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาวันที่ 7ธันวาคม 2523 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์มาทำงานสาย ในการเลิกจ้างนี้จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันที่ 1 ถึง 6 ธันวาคม 2523 ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยค่าสินจ้างที่ไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า ค่าจ้างค้างชำระและค่าจ้างที่จ่ายไม่ครบตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ขัดคำสั่งและระเบียบข้อบังคับมาทำงานสาย จำเลยได้มีคำเตือนเป็นหนังสือให้โจทก์ลงชื่อรับทราบ แต่โจทก์ขัดขืนไม่ยอมลงชื่อและโต้เถียงกับผู้จัดการการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับอย่างร้ายแรงจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยไม่เคยจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ชั้นพิจารณาจำเลยแถลงว่า ยินดีจ่ายเงินค่าจ้างชำระกับเงินที่จ่ายไม่ครบตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแก่โจทก์ โจทก์ตกลงด้วย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งไม่ยอมลงชื่อในใบเตือน ไม่ใช่เป็นการร้ายแรง จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยแต่การขัดคำสั่งในกรณีนี้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่โจทก์กระทำผิดระเบียบโดยมาทำงานสาย จำเลยได้ออกคำเตือนเป็นหนังสือให้โจทก์ลงชื่อรับทราบแต่โจทก์ขัดขืนไม่ยอมลงชื่อและโต้เถียงกับผู้จัดการของจำเลยนั้น จำเลยมีวิธีการแจ้งให้โจทก์ทราบ คำเตือนโดยวิธีอื่นได้ เช่นแจ้งด้วยวาจา หรือปิดประกาศคำเตือนให้ทราบเป็นต้น การขัดขืนไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือนจึงมิใช่การฝ่าฝืนคำสั่งระเบียบข้อบังคับเป็นการร้ายแรง แม้โจทก์ได้โต้เถียงกับผู้จัดการด้วยก็ไม่ได้ความว่าเป็นเรื่องอื่นนอกเหนือจากผู้จัดการจะให้โจทก์ลงชื่อรับทราบคำเตือน แต่โจทก์ไม่ยอมลงชื่อ การที่โจทก์โต้เถียงกับผู้จัดการด้วยจึงจะปรับการกระทำของโจทก์ขึ้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งระเบียบข้อบังคับเป็นการร้ายแรงหาได้ไม่ จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
พิพากษายืน