คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า สุจริต ในป.พ.พ. มาตรา 583 มิได้หมายความว่าโจทก์จะต้องกระทำการโดยไม่ทุจริต แต่กรณีนี้มีความหมายว่า โจทก์ทราบถึงเหตุที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างแล้ว แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความรอบคอบเต็มความสามารถ โดยมิได้แจ้งพนักงานรักษาความปลอดภัยทั้งหมดให้เข้มงวดตรวจตราคนเข้าออกภายในอาคารจึงเกิดความเสียหายขึ้น เป็นความประพฤติที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่หัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัยของโจทก์ตามความหมายคำว่า “สุจริต” ในบทกฎหมายดังกล่าวจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และแม้จะฟังไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ตาม แต่เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวโดยไม่ปรากฎว่าจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49
โจทก์กระทำผิดเพียงแต่ไม่ได้กำชับให้พนักงานรักษาความปลอดภัยทุกคนตรวจตราเคร่งครัดมิให้ผู้ไม่มีสิทธิใช้ลิฟต์ของผู้บริหารขึ้นไปบนอาคาร ชั้น 8 อันเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ประกอบกับจำเลยได้รับความเสียหายเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์หายไป 2 เครื่องเท่านั้น การกระทำผิดของโจทก์จึงมิใช่การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีร้ายแรง ตามพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 119(3)
ข้อมูลที่บันทึกอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ถูกลักไป เป็นข้อมูลความลับทางการค้าของจำเลย หากถูกเปิดเผยไปยังบริษัทคู่แข่งทางการค้าจำเลยจะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คู่มือพนักงานของจำเลยระบุว่า เงินบำเหน็จ คือเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานที่พ้นสภาพการเป็นพนักงานโดยไม่มีความผิดตามข้อกำหนด ส่วนมากเงินดังกล่าวนายจ้างจะจ่ายให้เพื่อตอบแทนที่ลูกจ้างทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดมาจนออกจากงานข้อกำหนดดังกล่าวย่อมรวมถึงข้อกำหนดหน้าที่การงานของโจทก์ การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกำหนดดังกล่าวทำให้คนร้ายขึ้นไปลักเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยไปได้ 2 เครื่อง กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์กระทำผิดตามข้อกำหนด จึงไม่มีสิทธิได้เงินบำเหน็จ
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 ซึ่งโจทก์ทำงานไม่ครบปี การจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2542 จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 ปรากฎว่า โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 7 วัน แต่โจทก์ทำงานในปี 2542 เพียง 6 เดือน 15 วัน ซึ่งคำนวณตามส่วนแล้ว โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2542 จำนวน 3.79 วัน เมื่อรวมกับปี 2541 แล้วโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 10.79 วัน คิดเป็นเงินจำนวน 7,328.20 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๙ จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย ต่อมาเป็นหัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง ๓๐๐ วันเป็นเงิน ๒๐๐,๙๕๘.๙๐ บาท สินจ้างแทนการบอกล่าวล่วงหน้า ๒๐,๓๗๕ บาท เงินบำเหน็จ ๒๖๑,๗๓๒ บาท เงินสะสม ๓๔,๒๐๖ บาท ค่าจ้างของวันที่ ๑ ถึง ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ จำนวน ๑๐,๐๔๗.๙๔ บาท ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๑ และ ๒๕๔๒ รวม ๑๔ วัน เป็นเงิน ๙,๓๗๘.๐๔ บาท ค่าเสียหายจากการทำงานไม่ครบ ๖๐ ปี ตามสัญญาจ้างเป็นเงิน ๒,๘๙๐,๙๖๑.๒๒ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓,๔๒๗,๖๕๙.๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๕๙,๑๖๒.๐๔ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๓,๔๘๖,๘๒๑.๑๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๓,๔๘๖,๘๒๑.๑๔ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและประกาศเรื่องมาตรการความปลอดภัยอาคารสยามกลการ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยประมาท เนื่องจากวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๒ มีชายแปลกหน้าใช้ลิฟต์ที่จัดไว้เฉพาะผู้บริหารขึ้นไปบนอาคารสยามกลการชั้น ๘ โดยพนักกงานรักษาความปลอดภัยผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์มิได้ตรวจสอบหรือขัดขวาง ทั้งโจทก์ทราบเหตุการณ์ดังกล่าวในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๒ แสดงว่าบกพร่องในการควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้รายงานเหตุผิดปกติให้โจทก์ทราบ เมื่อโจทก์ทราบเหตุแล้วก็ไม่เรียกประชุมผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อแจ้งเหตุและกำชับกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวดและไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๒ มีชายแปลกหน้าเข้ามาในอาคารสยามกลการภายใต้ความรับผิดชอบดูแลของโจทก์ ใช้ลิฟต์ซึ่งจัดไว้เฉพาะผู้บริหารขึ้นไปที่ชั้น ๘ และทำการลักทรัพย์ หากพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ตรวจตราบุคคลตามหน้าที่ก็จะไม่เกิดความเสียหายแก่จำเลย แสดงโดยชัดแจ้งว่าโจทก์หย่อนยานและบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ทั้งโจทก์ไม่รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบถึงเหตุการณ์ที่ผิดปกติ การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรง และไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อบังคับการทำงานของจำเลย ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๓) (๔) โจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชยตาม มาตรา ๑๑๘ การกระทำของโจทก์ไม่ผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จ จำเลยหักเงินสะสมจากเงินเดือนโจทก์จึงต้องคืนแก่โจทก์ จำเลยค้างชำระค่าจ้างระหว่างวันที่ ๑ ถึง ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๕๔๑ ถึง ๒๕๔๒ จำนวน ๑๔ วัน พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๒๐๐,๙๕๘.๙๐ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๙,๓๗๘.๐๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยของเงินทั้งสองประเภทอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒) ค่าจ้างค้างชำระ ๑๐,๐๔๗.๙๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เงินบำเหน็จ ๒๖๑,๗๓๒ บาท และเงินสะสม ๓๔,๒๐๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า_ _ _ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า การที่โจทก์กำชับเฉพาะนายประชิต มาประจวบ และนายประกอบ เอี่ยมวิโรจน์โดยไม่บอกพนักงานรักษาความปลอดภัยคนอื่นว่ามีผู้ไม่มีสิทธิขึ้นลิฟต์ที่ใช้เฉพาะผู้บริหารไปบนอาคารสยามกลการชั้น ๘ ถือว่าโจทก์ทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามบทบัญญัติมาตรา ๕๘๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ เห็นว่า คำว่าสุจริตในมาตรา ๕๘๓ ดังกล่าวมิได้หมายความว่าโจทก์จะต้องกระทำการโดยไม่ทุจริต แต่กรณีนี้มีความหมายว่าโจทก์ทราบถึงเหตุทีอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างแล้วและโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัยมีหน้าที่ต้องป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความรอบคอบเต็มความสามารถ โดยมิได้แจ้งพนักงานรักษาความปลอดภัยทั้งหมดให้เข้มงวดตรวจตราคนเข้าออกภายในอาคารสยามกลการจึงเกิดความเสียหายดังกล่าวขึ้นเป็นความประพฤติที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่หัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัยของโจทก์ตามความหมายคำว่า “สุจริต” ในบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และแม้จะฟังไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ตาม แต่เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยประการแรกว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทราบเรื่องพนักงานขับรถขึ้นลิฟต์ที่ใช้เฉพาะผู้บริหารไปบนอาคารสยามกลการชั้น ๘ โดยไม่มีสิทธิ โจทก์ในฐานะหัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัยแจ้งเรื่องดังกล่าวแต่เฉพาะนายประชิตและนายประกอบโดยไม่ได้แจ้งพนักงานรักษาความปลอดภัยทุกคนนั้น เห็นว่า โจทก์กระทำผิดเพียงแต่ไม่ได้กำชับให้พนักงานรักษาความปลอดภัยทุกคนตรวจตราเคร่งครัดมิให้ผู้ไม่มีสิทธิใช้ลิฟต์ของผู้บริหารขึ้นไปบนอาคารสยามกลการชั้น ๘ อันเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ประกอบกับจำเลยได้รับความเสียหายเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์หายไป ๒ เครื่อง เท่านั้น การกระทำผิดของโจทก์จึงมิใช่กรณีร้ายแรง อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อมูลที่บันทึกอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ถูกลักไปเป็นข้อมูลความลับทางการค้าของจำเลย หากถูกเปิดเผยไปยังบริษัทคู่แข่งทางการค้าจำเลยจะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยประการที่สองว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือไม่ เห็นว่า คู่มือพนักงานของจำเลย ระบุว่าเงินบำเหน็จคือเงินที่จำเลยจ่ายให้พนักงานที่พ้นสภาพการเป็นพนักงานโดยไม่มีความผิดตามข้อกำหนด เงินบำเหน็จเป็นเงินที่นายจ้างกำหนดจ่ายเพิ่มให้นอกเหนือจากที่กฎหมายบังคับ ส่วนมากเงินดังกล่าวนายจ้างจะจ่ายให้เพื่อตอบแทนที่ลูกจ้างทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดมาจนออกจากงาน ข้อกำหนดดังกล่าวย่อมรวมถึงข้อกำหนดหน้าที่การงานของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.๕ ซึ่งเอกสารดังกล่าวกำหนดหน้าที่หลักของโจทก์ว่ารับผิดชอบงานด้านรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลและทรัพย์สินของจำเลย กำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของจำเลย เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทราบเรื่องมีผู้ใช้ลิฟต์ของผู้บริหารขึ้นไปบนอาคารสยามกลการชั้น ๘ โดยไม่มีสิทธิ แต่โจทก์มิได้กำชับให้พนักงานรักษาความปลอดภัยทุกคนตรวจตราเคร่งครัดมิให้ผู้ไม่มีสิทธิใช้ลิฟต์ดังกล่าวอีก เมื่อปรากฏว่าการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกำหนดดังกล่าวทำให้มีคนร้ายขึ้นไปลักเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยไปได้ ๒ เครื่อง กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์กระทำผิดตามข้อกำหนดเอกสารหมาย ล.๕ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้เงินบำเหน็จตามคู่มือพนักงานของจำเลยดังกล่าวข้างต้น อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ ๗ วัน แต่โจทก์ทำงานในปี ๒๕๔๒ ไม่ครบปี จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๕๔๒ เพียง ๔ วัน เท่านั้นหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ซึ่งโจทก์ทำงานไม่ครบปี การจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๕๔๒ จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๗ ซึ่งบัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามมาตรา ๑๑๙ ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ เมื่อปรากฏว่า ปี ๒๕๔๒ โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ๗ วัน แต่โจทก์ทำงานในปี ๒๕๔๒ เพียง ๖ เดือน ๑๕ วัน ซึ่งคำนวณตามส่วนแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๕๔๒ จำนวน ๓.๗๙ วัน เมื่อรวมกับปี ๒๕๔๑ แล้วโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม ๑๐.๗๙ วัน คิดเป็นเงินจำนวน ๗,๓๒๘.๒๐ บาท อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้จ่ายเพียง ๗,๓๒๘.๒๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

นางสาวสุจิตรา พัฒนภักดี ผู้ช่วยฯ
นายเจษฎา ชุมเปีย ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายไมตรี ศรีอรุณ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

Share