แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริเวณไร่ปลูกต้นยาสูบของจำเลยมีเพิงหมาแหงนกันแดดที่จำเลยปลูกไว้ เพื่อใช้เป็นที่ทำยาอัด ยาเส้น เพื่อการค้าเพิงหมาแหงนรวมตลอดถึงบริเวณสถานที่นี้ จึงเป็นโรงอุตสาหกรรมยาสูบ ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509
ยาเส้นทุกชนิดไม่ว่า จะเป็นยาเส้นจากพันธุ์เวอร์ยิเนียแท้ หรือเป็นยาเส้นพันธุ์เวอร์ยิเนียผสมกับพันธ์ยาสูบพื้นเมือง หรือยาเส้นจากพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง ล้วนต้องถือว่าเป็นยาเส้นตามความหมายในมาตรา 18 วรรคแรก ทั้งสิ้น จำเลยนำออกจากโรงอุตสาหกรรมยาสูบโดยไม่ปิดแสตมป์ยาสูบก่อนจึงมีความผิด ดังนั้น แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่ายาเส้นนั้นเป็นพันธุ์เวอร์ยิเนีย แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าเป็นยาเส้นพันธุ์เวอร์ยิเนียผสมกับพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง จะถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังกล่าวในฟ้อง หรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาเส้น มีสถานที่ประกอบการค้าโรงงานอุตสาหกรรมยาสูบอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2514 จำเลยได้บังอาจนำยาเส้นพันธุ์เวอร์ยิเนียซึ่งผลิตในประเทศไทยบรรจุในซองที่ทำเป็นกะทอรวม 13 กะทอ น้ำหนัก 260 กิโลกรัม ซึ่งจะต้องปิดแสตมป์ยาสูบรวม 260 บาท ออกจากโรงงานอุตสาหกรรมยาสูบของจำเลยดังกล่าวโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ แล้วบรรทุกรถยนต์ไปตามถนนหลวง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 18, 44, 48 พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2512 มาตรา 16 กฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 และขอให้ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธว่า ยาเส้นที่มีไว้เป็นยาพันธุ์พื้นเมืองไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ยาสูบ จำเลยนำยาเส้นนั้นไปจากสวนที่ปลูกต้นยาสูบซึ่งไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของจำเลย เพื่อนำไปเก็บยังบ้านเรือน ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงบางประการ และศาลชั้นต้นสืบพยานคู่ความเสร็จแล้ววินิจฉัยว่า ไร่ที่จำเลยใช้ปลูกต้นยาสูบ บ่มใบยาและหั่นใบยาให้เป็นยาเส้นแล้วตากแดดให้แห้งและเก็บใส่กะทอ ถือได้ว่าสถานที่นี้เป็นโรงอุตสาหกรรมยาสูบตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 แล้วโดยไม่จำกัดว่าจะต้องมีโรงเรือนหรือโรงงานถาวรหรือไม่ แต่โจทก์ฟ้องว่ายาเส้นของกลางเป็นพันธุ์เวอร์ยิเนีย เมื่อทางพิจารณากลับได้ความว่าเป็นยาเส้นผสมพันธุ์ ไม่ใช่พันธุ์เวอร์ยิเนียแท้ต้องถือว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้อง ทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านว่าไร่ที่จำเลยทำยาเส้นไม่ใช่เป็นโรงอุตสาหกรรมยาสูบ จึงไม่เป็นปัญหาจะต้องวินิจฉัย ยาเส้นที่ทำจากใบยาทุกชนิดไม่ว่าเป็นพันธุ์อะไรถ้าผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบจะเคลื่อนย้าย ต้องบังคับตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยนำยาเส้นพันธุ์เวอร์ยิเนีย แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยนำยาเส้นพันธุ์เวอร์ยิเนียผสม จะถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องอันต้องยกฟ้องโจทก์หาได้ไม่พิพากษากลับลงโทษตามบทกฎหมายที่โจทก์ขอ ปรับ 500 บาท ยาเส้นของกลางริบ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าสถานที่จำเลยใช้ในการทำยาเส้นใช่ “โรงอุตสาหกรรมยาสูบ” ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 หรือไม่ ตามมาตรา 4 คำว่า “โรงอุตสาหกรรมยาสูบ” หมายความว่า สถานที่ซึ่งใช้ในการทำยาอัดยาเส้น หรือยาสูบเพื่อการค้า และให้รวมตลอดถึงบริเวณแห่งสถานที่นั้นด้วยเมื่อข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่าบริเวณไร่ปลูกต้นยาสูบของจำเลยมีเพิงหมาแหงนกันแดด และร้อยตำรวจโทเสรี มาลาเกษสุวรรณ พนักงานสอบสวนเบิกความว่าปกติชาวบ้านมักจะปลูกเพิงหมาแหงนไว้ในไร่ยาสูบสำหรับนั่งพักร่มและเก็บใบยาภายหลังเมื่อหั่นใบยาที่เก็บและตากแห้งเสร็จแล้วเขาก็จะรื้อเพิงทิ้ง เช่นนี้ แสดงว่าการที่จำเลยปลูกเพิงหมาแหงนไว้ในบริเวณไร่ก็เพื่อใช้เป็นที่ทำยาอัดยาเส้น เพื่อการค้าตามที่จำเลยขออนุญาตไว้นั่นเอง ฉะนั้น เพิงหมาแหงนรวมตลอดถึงบริเวณสถานที่นี้จึงเป็นโรงอุตสาหกรรมยาสูบตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 คดีจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาเส้น บรรจุยาเส้นซึ่งเป็นพันธุ์เวอร์ยิเนียผสมพันธุ์ยาสูบพื้นเมืองในซอง (กะทอ) โดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ ก่อนนำออกจากโรงอุตสาหกรรมยาสูบของจำเลยดังกล่าวจะเป็นความผิดต่อมาตรา 18 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 หรือไม่ ได้พิจารณาแล้วคำว่า “ยาเส้น” มีคำจำกัดความไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 ดังนี้ “ยาเส้น” หมายความว่า ใบยาหรือยาอัดส่งได้หั่นเป็นเส้นและแห้งแล้ว ฉะนั้น ยาเส้นทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นยาเส้นจากพันธุ์เวอร์ยิเนียแท้หรือเป็นยาเส้นพันธุ์เวอร์ยิเนียผสมกับพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง หรือยาเส้นจากพันธุ์ยาสูบพื้นเมืองก็ล้วนต้องถือว่าเป็นยาเส้นตามความหมายในมาตรา 18 วรรคแรก ทั้งสิ้นจำเลยนำออกจากโรงอุตสาหกรรมยาสูบโดยไม่ปิดแสตมป์ยาสูบก่อนจึงมีความผิด ดังนั้น แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่ายาเส้นนั้นเป็นพันธุ์เวอร์ยิเนีย แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าเป็นยาเส้นพันธุ์เวอร์ยิเนียผสมกับพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง ก็หาใช่เป็นข้อสารสำคัญไม่เพราะยังคงเป็นยาเส้นอยู่นั่นเองโจทก์กล่าวคำว่า “พันธุ์เวอร์ยิเนีย” ต่อท้ายคำว่ายาเส้นในฟ้อง เป็นเพียงถ้อยคำที่ขยายคำว่า “ยาเส้น” ให้ชัดเจนว่าเป็นพันธุ์อะไรเท่านั้น และจะถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและดังจำเลยฎีกาหาได้ไม่
พิพากษายืน