แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยที่ 1 มีภาระหนี้สินกับโจทก์ตามสัญญากู้และตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยการเปลี่ยนแปลงการชำระหนี้เท่านั้น ไม่มีการตกลงเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ต้องการระงับข้อพิพาทเดิมโดยต่างยอมผ่อนผันแก่กันและกำหนดหนี้ขึ้นใหม่ ตามความหมายของคำว่าประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 จึงไม่ทำให้หนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ระงับไป ดังนั้นสัญญาจำนองที่ ว. ทำไว้กับโจทก์เป็นประกันการชำระเงินตามสัญญากู้เงินของจำเลยที่ 1 จึงมีผลผูกพันอยู่ จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ว. ต้องรับผิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,267,887.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,895,412.43 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 14706 ตำบลบางเชือกหนัง (บางพรม) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร อันเป็นทรัพย์มรดกของนางวิรพรรณ และที่ดินโฉนดเลขที่ 4719 ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,078,020.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.50 ต่อปี ของต้นเงิน 1,489,707.65 บาท นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์แล้วเสร็จ กับของต้นเงิน 359,341.27 บาท นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์แล้วเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4719 ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้ตกเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางวิรพรรณ รับผิดตามสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 14706 ตำบลบางเชือกหนัง (บางพรม) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ในหนี้ต้นเงินจำนอง 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2531 และในหนี้ต้นเงินจำนอง 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15.50 บาท นับแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปีขึ้นไปไม่ได้ (ที่ถูกย้อนหลังนับแต่วันฟ้องขึ้นไปเกิน 5 ปี ไม่ได้) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า สัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำให้หนี้เงินกู้ระงับไปและสัญญาจำนองที่นางวิรพรรณทำไว้ระงับไปด้วยดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีสาระสำคัญเพียงว่าข้อ 1 ระบุว่าจำเลยที่ 1 ตกลงยอมรับว่ามีภาระหนี้สินกับธนาคารโจทก์ตามสัญญากู้รวม 3 ลำดับ ข้อ 2 ระบุว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดย 2.1 การเปลี่ยนแปลงการชำระหนี้ เท่านั้น ไม่มีการตกลงเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ต้องการระงับข้อพิพาทเดิมโดยต่างยอมผ่อนผันแก่กันและกำหนดหนี้ขึ้นมาใหม่ตามความหมายของคำว่าประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 แต่อย่างไร จึงไม่ทำให้หนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ระงับไป ดังนั้น สัญญาจำนองที่นางวิรพรรณทำไว้กับโจทก์เป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินของจำเลยที่ 1 จึงมีผลผูกพันอยู่ จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางวิรพรรณต้องรับผิดต่อโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ