คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับอนุญาตให้จัดให้มีการเล่นพนันไพ่ผ่องไทย แต่ได้เล่นกันก่อนกำหนดเวลาในใบอนุญาต จึงเป็นการเล่นผิดเงื่อนไขในใบอนุญาต โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยว่า เล่นการพนันไม่รับอนุญาต ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 (อ้างฎีกาที่ 475-477/2488 และฎีกาที่ 324/2501)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสิบคนบังอาจเล่นการพนันไพ่ผ่องไทย พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดฐานเล่นการพนันไม่รับอนุญาตและถูกลงโทษปรับ จำเลยที่ 2 พ้นโทษไปยังไม่ครบ 3 ปี มากระทำผิดครั้งนี้อีก ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 5, 6,10, 12, 15 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2485 มาตรา 3 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2490มาตรา 3 (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2504 มาตรา 3 โดยให้วางโทษจำเลยที่ 1 ในสถานหนัก และขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 กับริบของกลางและสั่งจ่ายสิบบนนำจับแก่ผู้นำจับ

จำเลยทั้งสิบคนให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษจริง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ร่วมกันเล่นการพนันไพ่ผ่องไทยจริง โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานแล้วแต่เล่นก่อนกำหนดเวลาซึ่งผิดเงื่อนไขในใบอนุญาต เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมกันเล่นการพนันโดยไม่รับอนุญาต แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยเล่นผิดเงื่อนไข เป็นการแตกต่างกับฟ้อง ทั้งจำเลยก็หลงต่อสู้คดีนำสืบไปในทางได้รับอนุญาตแล้ว คดีลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 และตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 475-477/2488 และคำพิพากษาฎีกาที่ 324/2501 ส่วนจำเลยที่ 8 ถึงที่ 10 ไม่ได้ร่วมอยู่ในวงเล่นด้วย พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้จัดให้มีการเล่นการพนันไพ่ผ่องไทย แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้เล่นการพนันกันก่อนกำหนดในใบอนุญาต 3 ชั่วโมง โจทก์จึงฟ้องกล่าวหาจำเลยว่าเล่นการพนันโดยไม่รับอนุญาต การเล่นพนันก่อนกำหนดเวลาในใบอนุญาตเป็นการเล่นผิดเงื่อนไขในใบอนุญาต โจทก์กล่าวหาจำเลยว่าเล่นการพนันไม่รับอนุญาต ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ จึงต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 และตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ศาลชั้นต้นยกมา

พิพากษายืน

Share