แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าโทษครั้งก่อนที่จำเลยกระทำผิดมาจะเข้าเกณฑ์ที่ศาลจะใช้ดุลพินิจวางโทษจำเลยฐานมีสันดานเป็นผู้ร้ายตาม พระราชบัญญัติกักกันฯ พ.ศ.2479 หรือไม่นั้น ถือว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายฎีกาได้
ตาม พระราชบัญญัติกักกันฯ พ.ศ.2479 มาตรา 8 ว่า บุคคลที่มีสันดานเป็นผู้ร้ายจะต้องเป็นบุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้งๆ คำว่า “ครั้ง” ตามมาตรานี้หมายความว่าเคยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาแล้วซึ่งเรียกได้ว่าครั้งที่ 1 ยังขืนไปกระทำความผิดขึ้นใหม่ และเมื่อศาลพิพากษาลงโทษสำหรับความผิดครั้งใหม่นี้จึงเป็นครั้งที่ 2 หาใช่เรื่องบุคคลที่จะทำความผิดมาแล้วหลายเรื่องหรือกระทำความผิดหลายกระทงและถูกแยกฟ้องเป็นหลายสำนวนไม่ ในกรณีเช่นนี้เมื่อศาลพิพากษาลงโทษตามสำนวนนั้นได้เรียกได้ว่ากระทำความผิดเพียงครั้งเดียวเพราะยังมิได้กระทำความผิดอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้รับโทษตามคำพิพากษาของศาลมาแล้ว จะเอาโทษสำหรับความผิดในเรื่องก่อนๆ มาวินิจฉัยเป็นหลายครั้งไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์และว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาแล้วตามใบแดงแจ้งโทษท้ายฟ้องพ้นโทษไปยังไม่เกิน 5 ปีไม่มีความเข็ดหลาบ กลับมากระทำผิดฐานลักทรัพย์ในคดีเรื่องนี้อันเป็นเหตุร้ายซึ่งโจทก์ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 288, 293, 63, 72 และพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 มาตรา 4, 8, 9
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ตามกฎหมายอาญา มาตรา 293 เพิ่มโทษตามมาตรา 72 อีก 1 ใน 3 เป็น 4 ปีลดฐานปรานีตามมาตรา 59 กึ่งหนึ่งคงเหลือ 2 ปี และเมื่อพ้นโทษแล้วให้ส่งตัวไปกักกันอีก 3 ปี ตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 มาตรา 8, 9 ของกลางคืนเจ้าทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์ขอความกรุณาในเรื่องกำหนดโทษและว่าจำเลยเพิ่งถูกศาลพิพากษาจำคุกครั้งเดียวจะเพิ่มโทษกักกันแก่จำเลยไม่ได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาต่อมาในปัญหาเรื่องกักกันซึ่งศาลฎีกาสั่งให้รับฎีกาของจำเลยเพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาฟังคำแถลงของจำเลยและตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 มุ่งที่จะปราบปรามบุคคลผู้มีสันดานเป็นผู้ร้ายและโดยเฉพาะ มาตรา 8 จะต้องเป็นบุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งไม่ใช่ความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ แล้วไม่มีความหลาบจำยังขืนกระทำผิดอาญาอันเป็นเหตุร้ายขึ้นอีก คำว่า “ครั้ง” ตามมาตรานี้หมายความว่า เคยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาแล้วซึ่งเรียกได้ว่าครั้งที่ 1 ยังขืนไปกระทำความผิดขึ้นใหม่อีกและเมื่อศาลพิพากษาลงโทษสำหรับความผิดครั้งใหม่นี้จึงเป็นครั้งที่ 2 หาใช่เรื่องที่ศาลพิพากษาลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดมาแล้วหลายเรื่องหรือกระทำความผิดหลายกระทงและถูกฟ้องแยกเป็นหลายสำนวนไม่ ในกรณีเช่นนี้เรียกได้เพียงครั้งเดียวเพราะยังมิได้กระทำความผิดอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้รับโทษตามคำพิพากษาของศาลมาแล้วจะเอาโทษสำหรับความผิดในเรื่องก่อน ๆ มาวินิจฉัยเป็นหลายครั้งไม่ได้
กรณีของจำเลยนี้ปรากฏตามคดีเรื่องก่อน ๆ คือสำนวนของศาลอาญาคดีแดงที่ 762, 763/2497 และคดีแดงที่ 1118/2497 รวมสามสำนวนว่าจำเลยถูกจับเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2497 เวลาประมาณ 5 นาฬิกาโดยข้อหาว่าลักทรัพย์รวม 3 รายในคืนวันเดียวกันนั้น 2 รายแรกศาลพิพากษารวมกันตามสำนวนคดีแดงที่ 762, 763/2497 ว่าจำเลยกระทำผิดฐานรับของโจรอันเป็นกรรมเดียวกันตามกฎหมายอาญา มาตรา 321 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือนลดกึ่งตามมาตรา 59 เหลือ 3 เดือน อีกรายหนึ่งศาลพิพากษาตามสำนวนคดีแดงที่ 1118/2497 ว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์ตาม มาตรา 293 ข้อ 1, 11 และ มาตรา 63 ให้จำคุก 1 ปีลดตามมาตรา 59 เหลือ 6 เดือน จำเลยพ้นโทษเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2498 และมากระทำผิดในคดีเรื่องนี้ขึ้นอีก ดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่าสำหรับการต้องโทษของจำเลยตามสำนวน 3 เรื่องก่อนตามความหมายของพระราชบัญญัติกักกัน ฯ พ.ศ.2479 มาตรา 8 ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยจึงได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาแล้วเพียงครั้งเดียวเพิ่งจะได้รับโทษจำคุกเป็นครั้งที่ 2 ในคดีเรื่องนี้เท่านั้นกรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง มาตรา 8 ดังกล่าวแล้ว จะเพิ่มโทษกักกันแก่จำเลยยังไม่ได้
เหตุฉะนี้ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยให้ยกข้อหาของโจทก์ในเรื่องกักกันนั้นเสีย