แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ฟ้องว่าได้รับซื้อที่นามีโฉนดซึ่งยังไม่ได้โอนกันแต่โจทก์ได้ครอบครองมากว่า 20 ปีแล้วได้มอบให้จำเลยไปประกาศรับมรดกผู้ขายเพื่อโอนให้โจทก์แล้วกลับไม่โอนให้ จำเลยต่อสู้ว่าสัญญาจะซื้อขายขาดอายุความ ดังนี้ศาลไม่ควรวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ โดยไม่สืบพยานให้สิ้นกระแสความ เพราะพฤติการณ์อาจเป็นการรับสภาพหนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ 25 ปีมานี้บิดาจำเลยได้ตกลงจะขายที่นามีโฉนดให้ ต. บิดาโจทก์และได้รับเงินล่วงหน้าไปจาก ต. แล้วสัญญาว่าจะโอนให้ในเดือนเดียวกัน ตามสำเนาสัญญาลงวันที่ 4 กันยายน 2467 ท้ายฟ้อง และได้มอบนาและโฉนดให้ ต. ครอบครอง แต่หาได้ไปโอนให้ไม่ ต. คงครอบครองนาและยึดถือโฉนดจนตายเมื่อ พ.ศ. 2490 โจทก์ได้รับมรดกและครอบครองติดต่อกับ ต. รวมกันมา 24 ปี แล้วได้กรรมสิทธิ์เดือนเมษายน 2491 จำเลยตกลงจะจัดการโอนให้โจทก์และไปจัดการประกาศรับมรดกแล้วกลับไม่ยอมโอนให้โจทก์ จำเลยให้การว่าบิดามารดาจำเลยไม่เคยตกลงจะขายและไม่เคยรับเงินล่วงหน้าจาก ต. หากทำสัญญาจะซื้อขายกันจริงก็ล่วงเลยมาเกิน 10 ปีแล้ว บิดาจำเลยตายมา 15 ปีเศษ ต. และโจทก์หมดสิทธิเรียกร้องในกองมรดกของบิดาจำเลยและอื่น ๆ หลายประการ ก่อนสืบพยานจำเลยขอให้ศาลชี้ขาดข้อกฎหมายในเบื้องต้น ในข้ออายุความและข้อครอบครองซึ่งจำเลยว่าโจทก์สละสิทธิครอบครอง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 163, 164, 169 แล้ว ให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 163, 164 และเห็นต่อไปว่า สัญญาที่โจทก์อ้างเป็นสัญญาจะขาย ต. บิดาโจทก์จึงเป็นแต่ครอบครองแทนบิดาจำเลยเจ้าของที่ดินเท่านั้นไม่เป็นครอบครองปรปักษ์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์เฉพาะในข้อกฎหมายเรื่องอายุความ ส่วนเรื่องครอบครองเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงไม่รับฎีกาในข้อหลัง
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การยังปฏิเสธอยู่ลำพังแต่คำฟ้องและคำให้การยังไม่พอให้วินิจฉัยชี้ขาดได้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พฤติการณ์อาจถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงก็ได้ควรดำเนินการพิจารณาต่อไป ส่วนเรื่องการครอบครองยังไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลทั้ง 2 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่