คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3557/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองเล่นการพนันนอกเวลาปฏิบัติงาน ผู้จัดการเขต 11 ของจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นต้นพิจารณาความผิดทางวินัยแล้วมีคำสั่งไล่โจทก์ทั้งสองออกจากงาน โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เห็นว่าควรลงโทษเพียงขั้นตัดเงินเดือนแล้วเสนอความเห็นไปยังผู้อำนวยการของจำเลย ผู้อำนวยการซึ่งมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งของผู้จัดการเขต11แล้วสั่งลงโทษโจทก์ทั้งสองใหม่เป็นตัดค่าจ้างเดือนละ 200 บาทมีกำหนด 6 เดือน และให้โจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานตามเดิม ดังนี้ เป็นผลให้คำสั่งของผู้จัดการเขต11 ถูกเพิกถอนหรือลบล้างไปในตัวต้อง ถือเสมือนหนึ่งว่าจำเลยยังมิได้สั่งลงโทษโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงมีความสัมพันธ์เป็นนายจ้างลูกจ้างกันเช่นเดิมติดต่อกันตลอดมาโดยไม่ขาดตอน ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองแล้วและรับกลับเข้ามาเป็นลูกจ้างใหม่ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำรายวันของจำเลย ทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถโดยสารประจำทาง เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๖ จำเลยมีคำสั่งของเขตการเดินรถที่ ๑๑ ไล่โจทก์ทั้งสองออกจากงานโดยอ้างว่า การที่โจทก์ทั้งสองกับพวกร่วมกันเล่นการพนันที่บริเวณท่าปากเกร็ดจนถูกเจ้าพนักงานจับกุม และศาลพิพากษาลงโทษนั้นเป็นความผิดอย่างร้ายแรงมีโทษถึงไล่ออกตามข้อบังคับของจำเลย ความจริงบริเวณที่โจทก์ทั้งสองกับพวกเล่นการพนันนั้นไม่ใช่สถานที่ทำการของจำเลย ซึ่งความผิดชนิดนี้ตามหนังสือของจำเลยที่ ขสมก.บ. (ว) ๒๒๗/๒๕๒๔ กำหนดโทษเพียงลดขั้นเงินเดือนไม่ถึงไล่ออกเป็นการลงโทษเกินระดับที่กำหนดไว้ แม้ต่อมาจำเลยจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งใหม่ให้ยกเลิกคำสั่งเดิมและลงโทษเพียงตัดค่าจ้างเดือนละ ๒๐๐ บาท มีกำหนด ๖ เดือน และรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานตามเดิม ก็ถือว่าการเลิกจ้างครั้งแรกเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสอง ขอให้พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๔๗,๕๕๒ บาท ค่าเสียหาย ๔๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์สำนวนแรก และจ่ายค่าชดเชย ๔๓,๖๗๑ บาท ค่าเสียหาย ๔๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์สำนวนที่สอง พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้าง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า การที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งลงโทษให้ไล่ออก และจำเลยพิจารณาแล้วลดโทษให้โดยลงโทษเพียงตัดค่าจ้างกับรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานตามเดิมนั้น ตามข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฉบับที่ ๔๖ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ข้อ ๕๗ กำหนดยกเว้นตามรับผิดของจำเลยไว้ว่า จำเลยไม่ผูกพันต้องจ่ายเงินใด ๆ หรือไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในระหว่างที่ถูกไล่ออก จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือค่าเสียหาย อย่างไรก็ตามถ้าจำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสอง กรณีที่โจทก์ทั้งสองถูกไล่ออกจากงานนั้น ถือว่าเป็นการพักงานซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างไม่เกินครึ่งหนึ่งของค่าจ้างรายเดือน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้พนักงานหรือลูกจ้างซึ่งถูกลงโทษฐานกระทำผิดวินัยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ เพราะมีวัตถุประสงค์ที่จะให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณากลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งว่า ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นได้สั่งลงโทษพนักงานหรือลูกจ้างถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับหรือกฎหมายหรือไม่ หากมีข้อผิดพลาดหรือไม่เหมาะสม ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงก็จะได้สั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกต้องหรือเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่พนักงานหรือลูกจ้างยิ่งขึ้น กรณีที่ผู้จัดการเขต ๑๑ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษโจทก์ทั้งสองโดยไล่ออกจากงาน ไม่ว่าคำสั่งจะคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยหรือไม่ประการใดก็ตาม เมื่อโจทก์ทั้งสองได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว คำสั่งของผู้จัดการเขต ๑๑ ย่อมยังไม่เป็นที่สุด การที่ผู้อำนวยการของจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งของผู้จัดการเขต ๑๑ เป็นผลให้คำสั่งของผู้จัดการเขต ๑๑ ถูกเพิกถอนหรือลบล้างไปในตัว ไม่มีผลใช้บังคับ ต้องถือเสมือนหนึ่งว่าจำเลยยังมิได้สั่งลงโทษโจทก์ทั้งสอง ดังนั้น เมื่อผู้อำนวยการสั่งลงโทษโจทก์ทั้งสองเพียงตัดค่าจ้าง และให้โจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานตามเดิม โจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงมีความสัมพันธ์เป็นนายจ้างลูกจ้างกันเช่นเดิม โจทก์ทั้งสองมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยติดต่อกันตลอดมาโดยไม่ขาดตอน ไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองครั้งหนึ่งแล้ว และรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างใหม่ ฉะนั้น กรณีนี้จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย
พิพากษายืน.

Share