แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องรัฐมนตรีว่าการมหาดไทย บรรยายว่าโจทก์เป็นคนไทยแต่เจ้าหน้าที่ให้จดทะเบียนต่างด้าว โจทก์ขอคืนสัญชาติต่อตำรวจท้องที่จนบัดนี้ยังไม่ทราบผลจึงขอให้ศาลไต่สวนสัญชาติ และเบิกถอนใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวดังนี้ไม่เป็นฟ้องที่ถูกต้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยกล่าวว่า โจทก์เป็นบุตรนายบุ๊น แซ่เฮ้า สัญชาติจีน นางกะ หัมพานนท์ เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย โดยโจทก์เกิดที่ตำบลบ้านใหม่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2460 เมื่อโจทก์อายุ 8 ขวบ บิดาส่งไปอยู่ประเทศจีนเรียนหนังสือจีนจนอายุได้ 21 ปี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2481 บิดาจึงรับกลับประเทศไทยโดยให้โจทก์สัญญาว่า จะต้องจดทะเบียนว่าเป็นคนต่างด้าวเกิดในประเทศจีน โจทก์จึงลงทะเบียนเป็นคนต่างด้าว ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เลขที่ 72/2481ลงวันที่ 9 มกราคม 2481 ได้เสียค่าธรรมเนียมต่ออายุมาจนบัดนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2495 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนสัญชาติตามแบบก.ช.3 ที่สถานีตำรวจสามพราน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมตำรวจสามพรานส่งเรื่องไปยังกองกำกับการตำรวจนครปฐม แล้วส่งต่อไปจนถึงกองบังคับการสันติบาล โจทก์ติดตามเรื่องเรื่อย ๆ มา จนในที่สุดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน2497 ได้รับตอบจากกองกำกับการตำรวจนครปฐมว่า ได้ส่งคำร้องของโจทก์พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลเพื่อพิจารณาต่อไปแล้ว บัดนี้ยังไม่ได้รับแจ้งจากผู้บังคับการอย่างใด โจทก์จึงได้ยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้ศาลไต่สวนตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 มาตรา 7(3) กับขอให้ศาลสั่งเพิกถอนใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ฉบับที่ 72/2481 ลงวันที่9 มกราคม 2481 ที่เจ้าพนักงานออกให้แก่โจทก์นั้นเสีย
ศาลจังหวัดนครปฐมมิได้สั่งออกหมายเรียกจำเลยมาแก้คดี โดยเห็นว่าไม่ปรากฏตามฟ้องว่า จำเลยทำอะไรอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือจำเลยมีพันธผูกพันต่อโจทก์ตามกฎหมายอย่างใด อีกทั้งไม่ได้ความว่า มีข้อโต้เถียงเกิดขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 อย่างไร จึงพิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์เสีย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของโจทก์เรื่องการกระทำหรือละเว้นการกระทำของจำเลยว่า ตามฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่า จำเลยมีหน้าที่กระทำหรือละเว้นกระทำอย่างใดและจำเลยทำให้โจทก์เสียสิทธิอย่างใด ตามฟ้องไม่ปรากฏว่า จำเลยจะทราบคำร้องของโจทก์ได้อย่างไรและทราบเมื่อไร จึงไม่มีการกระทำหรืองดเว้นกระทำเกี่ยวกับส่วนตัวจำเลย เหตุที่โจทก์ยื่นคำร้องทางตำรวจสามพรานไม่ได้รับการพิจารณาสมปรารถนาไม่เกี่ยวกับจำเลย ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการกระทำของจำเลย หรืองดเว้นการกระทำของจำเลยคำขอท้ายฟ้องก็ไม่มีข้อใดขอให้บังคับจำเลย ฟ้องของโจทก์จึงไม่พึงต้องรับไว้พิจารณา จะถือว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องมีกรณีพิพาทไม่ได้ จึงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ฟ้องของโจทก์เรื่องนี้ โจทก์มิได้กล่าวบรรยายมีข้อความว่า จำเลยได้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอันใดต่อโจทก์ อันเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายหรือศูนย์เสียซึ่งสิทธิตามกฎหมายแต่ประการใดไม่ ฉะนั้น ฟ้องของโจทก์จึงได้ชื่อว่า ไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และทั้งคำขอให้บังคับจำเลยเพื่อให้กระทำการตามที่โจทก์ฟ้องก็ไม่มีแต่ประการใด ฟ้องของโจทก์เช่นนี้จึงไม่เป็นฟ้องที่ถูกต้องตามมาตรา 172 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ยกฟ้องเสียได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกจำเลยมาพิจารณาศาลทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ได้
จึงพิพากษายืน