แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิทธิอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามกฎหมายในมาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น จะต้องเป็นสิทธิที่บุคคลภายนอกมีอยู่เหนือทรัพย์สินของลูกหนี้นั้นเอง และจะต้องเป็นสิทธิเทียบเคียงได้กับบุริมสิทธิอันเป็นสิทธิประเภทแรกด้วย
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ภาษีอากรค้างชำระของจำเลย ผู้ร้องไม่ใช่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ และผู้ร้องไม่เคยใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 สั่งอายัดหรือยึดเงินค่าจ้างรายพิพาทมาก่อน ดังนั้น ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงินค่าจ้างรายพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา287 โดยอ้างแต่เพียงว่า ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าพนักงานมีสิทธิที่จะบังคับเหนือเงินรายนี้ได้ ตามนัยแห่งมาตรา 12 ประมวลรัษฎากรนั้น เห็นได้ว่าอำนาจของผู้ร้องหากจะมีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องก็ยังหาได้ใช้อำนาจบังคับเอาแก่เงินจำนวนนี้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวไม่ ผู้ร้องจึงมีฐานะไม่ต่างกับเจ้าหนี้ธรรมดา จึงไม่อาจถือได้ว่าสิทธิของผู้ร้องเป็น”สิทธิอื่น” ซึ่งเจ้าหนี้ในฐานะบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกฎหมาย ตามนัยแห่งบทบัญญัติมาตรา 287 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ย่อยาว
กรมสรรพากรผู้ร้องร้องว่า ผู้ร้องมีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร จำเลยมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการและชำระภาษีการค้าให้แก่ผู้ร้อง แต่จำเลยไม่ปฏิบัติ และติดค้างภาษีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2505 ถึงเดือนมิถุนายน 2511 รวมเป็นเงิน 5,105,940.43 บาทซึ่งถือเป็นภาษีอากรค้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่ผู้ร้องจะยึดมาชำระค่าภาษีอากรค้างได้ คงมีเฉพาะเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างโรงงานกลั่นน้ำมันของกระทรวงกลาโหม ซึ่งศาลได้มีหมายอายัดไว้ในคดีนี้และกระทรวงกลาโหมได้นำส่งต่อกองบังคับคดีแพ่งจำนวน13,248,593.70 บาท จึงขอเฉลี่ยหนี้ในเงินดังกล่าวที่ศาลมีหมายอายัดไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287
โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า จำเลยจะค้างชำระภาษีหรือไม่โจทก์ไม่ทราบหนี้ภาษีนี้ยังไม่แน่นอน เพราะอยู่ระหว่างอุทธรณ์ผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา มิได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย และมิได้เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิหรือมีสิทธิร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย
วันนัดพร้อม ผู้ร้องแถลงรับว่า หนี้ที่ผู้ร้องขอเฉลี่ยเป็นหนี้ภาษีอากรค้าง แต่ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และเงินที่โจทก์ขออายัดจากกระทรวงกลาโหมรายนี้ ผู้ร้องไม่เคยยึดหรืออายัดเลย
ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานและมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และไม่เคยยึดหรืออายัดเงินที่โจทก์ขออายัดรายนี้ จึงไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287, 290 ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
คดีคงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอเฉลี่ยเงินที่กระทรวงกลาโหมส่งมาตามหมายอายัดของศาลในฐานะที่เป็นบุคคลภายนอกที่อาจร้องขอให้บังคับสิทธิของตนเหนือทรัพย์สินของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 หรือไม่
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ภาษีอากรค้างชำระของจำเลยผู้ร้องไม่ใช่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ กระทรวงกลาโหมได้ส่งเงินค่าจ้างก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน จำนวน 13,248,593.70 บาท ซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับตามสัญญามายังกองบังคับคดีแพ่งตามหมายอายัดของศาลชั้นต้นเงินรายนี้ผู้ร้องไม่เคยใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 สั่งอายัดหรือยึดมาก่อน
ศาลฎีกาเห็นว่า สิทธิของเจ้าหนี้ผู้ร้องขอบังคับตามมาตรา 287 นี้ จะต้องเป็นบุริมสิทธิหรือเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งเจ้าหนี้ในฐานะบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามกฎหมาย สำหรับ “สิทธิอื่น ๆ” ดังกล่าวนี้ จะต้องเป็นสิทธิที่บุคคลภายนอกมีอยู่เหนือทรัพย์สินของลูกหนี้นั้นเอง และจะต้องเป็นสิทธิที่เทียบเคียงได้กับบุริมสิทธิอันเป็นสิทธิประเภทแรกด้วยมิฉะนั้นบทบัญญัติมาตรา 287 ย่อมไร้ความหมายเพราะถ้ามิได้เป็นเช่นว่านี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือแม้แต่เจ้าหนี้ธรรมดาก็ดี ย่อมจะขอบังคับชำระหนี้ตามมาตรานี้ได้ และได้ก่อนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งขอเฉลี่ยหนี้ตามมาตรา 290 เสียอีก ซึ่งไม่น่าจะเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายเช่นนั้น
ในคดีนี้ผู้ร้องเพียงแต่อ้างว่า ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าพนักงานมีสิทธิที่จะบังคับเหนือเงินค่าจ้างรายพิพาทได้ตามนัยแห่งมาตรา 12 ประมวลรัษฎากรนั้น เห็นว่าอำนาจของผู้ร้องหากจะมีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องก็ยังหาได้ใช้อำนาจบังคับเอาแก่เงินจำนวนนี้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวไม่ ผู้ร้องจึงยังคงมีฐานะไม่ต่างกับเจ้าหนี้ธรรมดา จึงไม่อาจถือได้ว่าสิทธิของผู้ร้องเป็น “สิทธิอื่น” ซึ่งเจ้าหนี้ในฐานะบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกฎหมาย ตามนัยแห่งบทบัญญัติมาตรา 287 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พิพากษายืน