คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5933/2538

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำมั่นที่จะให้เงินรางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแส ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา35(1)มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมดังนั้น ข้อตกลงตามหนังสือสัญญาแบ่งเงินรางวัลจึงไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ให้คำมั่นว่าจะให้เงินรางวัลแก่ผู้ที่แจ้งเบาะแส ผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 35(1) โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าพนักงานสอบสวนจับกุมผู้กระทำผิด ผู้แจ้งจะได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท ถ้าพนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาล ผู้แจ้งจะได้รับเงินรางวัลอีก 10,000 บาท และถ้าศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด ผู้แจ้งจะได้รับเงินรางวัลอีก100,000 บาท จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะแบ่งเงินรางวัลตามที่จำเลยจะได้รับจากการแจ้งเบาะแส ผู้กระทำผิดดังกล่าวแล้วให้แก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนเป็นเงิน 40,000 บาท เป็นรางวัลแห่งความกล้าหาญในการกล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวนและเป็นผู้ติดต่อประสานงานรับเงินรางวัลในคดีที่จำเลยเป็นผู้แจ้งจำเลยรับเงินรางวัลงวดแรกและงวดที่สองแล้วไม่ยอมจ่ายให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงให้จำเลยทำหลักฐานเป็นหนังสือ และต่อมาเมื่อศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด จำเลยได้รับเงินรางวัลงวดสุดท้ายแล้ว จำเลยก็ไม่ยอมแบ่งให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 40,000 บาทให้จำเลยเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน40,000 บาทนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่าสัญญาแบ่งเงินรางวัลท้ายฟ้องเป็นคำมั่นที่จำเลยจะแบ่งเงินรางวัลให้แก่โจทก์ สัญญาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันบังคับแก่จำเลยได้ เพราะมิได้นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 526 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า สัญญาแบ่งเงินรางวัลท้ายฟ้องขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นโฆษณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีเพียงว่าข้อตกลงตามหนังสือสัญญาแบ่งเงินรางวัลเอกสารหมาย จ.1 ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า การที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและองค์กรกลางประกาศให้คำมั่นจะให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแส ผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ก็โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม คำมั่นดังกล่าวเป็นคำมั่นที่ประกาศแก่คนทั่วไป ซึ่งโจทก์แม้จะได้รับแต่งตั้งจากองค์กรกลางให้เป็นประธานองค์กรกลางอำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี หากโจทก์เป็นผู้แจ้งเบาะแสผู้กระทำผิด โจทก์ก็มีสิทธิจะได้รับรางวัลดังกล่าวได้ หาได้มีข้อกำหนดห้ามไว้แต่อย่างใดไม่ ดังนั้นการที่โจทก์กล่าวโทษนายหนูพัฒน์ต่อพนักงานสอบสวนตามที่ตกลงกับจำเลยดังกล่าวข้างต้น ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมดำเนินการแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิดกับจำเลยต่อพนักงานสอบสวน และการที่จำเลยตกลงให้โจทก์ดำเนินการดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้อำนาจไม่เป็นธรรมหรือกระทำการขัดต่อศีลธรรมให้จำเลยยอมตกลงกับโจทก์ ดังนั้นข้อตกลงตามหนังสือสัญญาแบ่งเงินรางวัลจึงไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ

Share