แหล่งที่มา : กองผู้ช่วย ศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานอัยการโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาแล้วว่าได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุดแล้วตามหนังสืออนุญาตท้ายฟ้องย่อมสันนิษฐานได้ว่าพนักงานอัยการโจทก์ได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุดแล้วเมื่อจำเลยไม่คัดค้านโดยเสนอหรือนำสืบเป็นข้อต่อสู้ไว้ก็ถือว่าไม่มีข้อโต้แย้งกันและตามสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่าพนักงานอัยการโจทก์ได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุดนั้นไม่ชอบจำเลยเพิ่งมาคัดค้านในชั้นอุทธรณ์และฎีกาย่อมไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295ริบมีดคัทเตอร์ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 3 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจริงดังฟ้อง เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วที่จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายกับฝ่ายจำเลยทะเลาะวิวาททำร้ายซึ่งกันและกันพนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยฝ่ายเดียวเป็นการไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันสมควรได้รับการวินิจฉัย
จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาตรา 9 เพราะโจทก์ไม่นำสืบข้อเท็จจริงว่าโจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดแล้วเห็นว่า พนักงานอัยการโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาแล้วว่าได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด(อธิบดีกรมอัยการเดิม) แล้วตามหนังสืออนุญาตท้ายฟ้อง ย่อมสันนิษฐานได้ว่าพนักงานอัยการโจทก์ได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด (อธิบดีกรมอัยการเดิม) แล้ว เมื่อจำเลยไม่คัดค้านโดยเสนอหรือนำสืบเป็นข้อต่อสู้ไว้ก็ถือว่าไม่มีข้อโต้เถียงกัน และตามสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่าพนักงานอัยการโจทก์ได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด(อธิบดีกรมอัยการเดิม) นั้นไม่ชอบ จำเลยเพิ่งมาคัดค้านในชั้นอุทธรณ์และฎีกา ย่อมไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยให้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยฎีกาในข้อสุดท้ายโดยขอให้ลงโทษปรับจำเลยสถานเดียวและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ตามพฤติการณ์ในการกระทำผิดของจำเลยส่อไปในทางอันธพาล ไม่สำนึกในการกระทำผิดและไม่พยายามบรรเทาผลร้าย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาจำคุกจำเลยจึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว
พิพากษายืน