คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2802/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จำเลยฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย และในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222
เหตุเกิดขึ้นเพราะฝ่ายโจทก์ร่วมกับจำเลยทะเลาะวิวาทด่าว่าแล้วท้าทายกัน กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมการที่จำเลยทำร้ายโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ลักษณะที่ทำไปเพราะบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72
โจทก์ร่วมถูกฟันด้วยมีด มีบาดแผลฉีกขาด ขอบเรียบที่ต้นแขน ปลายแขน ส่วนบนและบริเวณข้อมือขวารวม 3 แห่งขนาดบาดแผลยาว 5 เซนติเมตร กว้าง 1 เซนติเมตร ลึกผ่านชั้นกล้ามเนื้อแขนและตัดผ่านประสาทที่ไปเลี้ยงแขนต้องรักษาตัว 2 เดือนเศษ จึงหายเป็นปกติแต่ทำงานหนักไม่ได้ ลักษณะบาดเจ็บของโจทก์ร่วมดังกล่าวถึงอันตรายสาหัสต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) แล้ว
โจทก์ร่วมวิ่งตามนาง พ.ไปเห็นจำเลยตบหน้านางพ. แล้วเงื้อมีดดาบจะฟัน โจทก์ร่วมจึงผลักนาง พ. ให้พ้นทางไป ขณะนั้นเองจำเลยก็ฟันถูกโจทก์ร่วมถึง 3 ครั้งลักษณะการทำร้ายของจำเลยดังกล่าวมิใช่เนื่องในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มีดดาบเป็นอาวุธฟันทำร้ายนางสาวละออ ช้างเทศผู้เสียหายที่บริเวณแขนขวาหลายที เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297

จำเลยให้การปฏิเสธ

ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จำเลยฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222ที่จำเลยฎีกาว่า เหตุที่จำเลยฟันโจทก์ร่วมเพราะนางพเยาว์ ได้ด่าจำเลยว่า”สันดานไม่ดีหน้าหีหน้าสัตว์” จำเลยจึงตบหน้านางพเยาว์และฟันเอาด้วยแต่โจทก์ร่วมเข้ามาผลักนางพเยาว์ จำเลยจึงฟันนางพเยาว์พลาดไปถูกโจทก์ร่วมถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยถูกยั่วโทสะหรือบันดาลโทสะ ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 บัญญัติว่า “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ฯลฯ” ข้อนี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ว่าโจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่าที่เกิดเหตุคดีนี้เกิดขึ้นก็เพราะฝ่ายผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม)กับจำเลยทะเลาะวิวาทด่าว่าแล้วท้าท้ายกัน ซึ่งศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ดังกล่าว กรณีจึงถือไม่ได้ว่า จำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยทำร้ายโจทก์ร่วมไม่ใช่ลักษณะที่ทำไปเพราะบันดาลโทสะ

จำเลยฎีกาต่อไปว่า บาดแผลของโจทก์ร่วมไม่ถึงสาหัส เพราะไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมถึงแก่ต้องพยุงลุกพยุงนั่ง ข้อนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า บาดแผลของโจทก์ร่วมถึงสาหัสโดยฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ร่วมมีบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบที่ต้นแขน ปลายแขนส่วนบนและบริเวณข้อมือขวารวมสามแห่งขนาดบาดแผลยาว 5 เซนติเมตร กว้าง 1 เซนติเมตร ลึกผ่านชั้นกล้ามเนื้อแขนและตัดผ่านประสาทที่ไปเลี้ยงแขน แพทย์ลงความเห็นว่า บาดแผลเช่นนี้ต้องรักษาประมาณสองเดือน ถ้าไม่มีโรคแทรกทั้งโจทก์ร่วมต้องรักษาตัวอยู่ถึง2 เดือนเศษจึงหายเป็นปกติแต่ทำงานหนักไม่ได้เพราะแขนที่ได้รับบาดเจ็บตึงยกของหนักไม่ได้ ลักษณะบาดเจ็บของโจทก์ร่วมดังกล่าวต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) กรณีไม่จำต้องให้ได้ความว่าผู้บาดเจ็บถึงแก่ต้องพยุงลุกพยุงนั่งดังที่จำเลยฎีกา

ฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยที่ 1 ว่า รูปเรื่องแห่งคดีนี้เป็นเรื่องจำเลยฟันทำร้ายโจทก์ร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299 นั้น กรณีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายหรือโจทก์ร่วมวิ่งตามนางพเยาว์ไปเห็นจำเลยตบหน้านางพเยาว์แล้วเงื้อมีดดาบจะฟันโจทก์ร่วมจึงผลักนางพเยาว์ให้พ้นทางไป ขณะนั้นเองจำเลยก็ฟันถูกโจทก์ร่วมถึง 3 ครั้ง ลักษณะการทำร้ายของจำเลยตามข้อเท็จจริงดังกล่าว มิใช่เนื่องในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปดังที่จำเลยฎีกา ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share