แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลางจะเป็นภูมิลำเนาของจำเลยในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 47 และถือได้ว่าจำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดธัญบุรี) ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22(1) บัญญัติไว้ แต่ตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลท้องที่ที่จำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจต้องรับคดีที่โจทก์ฟ้อง หากแต่บัญญัติให้อยู่ในดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะรับชำระคดีในกรณีเช่นว่านั้นหรือไม่ก็ได้ ประกอบกับความผิดคดีนี้เกิดขึ้นในท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดแม่สอด ทั้งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่สอดได้ทำการสอบสวนคดีนี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหากมีการชำระคดีที่ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดธัญบุรี) จะเป็นการสะดวกยิ่งกว่าการชำระคดีที่ศาลจังหวัดแม่สอดซึ่งเป็นศาลท้องที่ที่ความผิดคดีนี้เกิดขึ้นอย่างไร ส่วนที่โจทก์อ้างว่ากรมราชทัณฑ์ไม่อนุญาตให้ย้ายจำเลยไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดแม่สอดนั้นเป็นเพียงข้อขัดข้องในทางปฏิบัติเท่านั้น จึงไม่มีเหตุสมควรให้ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดธัญบุรี) รับชำระคดีนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ เหตุเกิดที่ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ขณะฟ้องคดีนี้จำเลยถูกจำคุกอยู่ที่ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง จังหวัดปทุมธานี ภูมิลำเนาของจำเลยจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดธัญบุรี) ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 340, 340 ตรี, 80, 83, 33 ริบของกลางให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยต่อจากโทษคดีดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลจังหวัดแม่สอด อีกทั้งมีการสอบสวนในท้องที่นั้นด้วย จึงไม่รับฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 วรรคแรก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดธัญบุรี) จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4167/2537 ของศาลจังหวัดแม่สอด ให้จำคุก 33 ปี 4 เดือน และถูกจำคุกในคดีดังกล่าวอยู่ที่ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุสมควรให้ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดธัญบุรี) ชำระคดีนี้หรือไม่ เห็นว่าแม้ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลางจะเป็นภูมิลำเนาของจำเลยในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 47 และถือได้ว่าจำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดธัญบุรี) ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22(1) บัญญัติไว้ก็ตาม แต่ตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลท้องที่ที่จำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจต้องรับชำระคดีที่โจทก์ฟ้อง หากแต่บัญญัติให้อยู่ในดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะรับชำระคดีในกรณีเช่นว่านั้นหรือไม่ก็ได้ ประกอบกับความผิดคดีนี้เกิดขึ้นในท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดแม่สอด ทั้งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่สอดได้ทำการสอบสวนคดีนี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หากมีการชำระคดีที่ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดธัญบุรี) จะเป็นการสะดวกยิ่งกว่าการชำระคดีที่ศาลจังหวัดแม่สอดซึ่งเป็นศาลท้องที่ที่ความผิดคดีนี้เกิดขึ้นอย่างไร ส่วนที่โจทก์อ้างว่ากรมราชทัณฑ์ไม่อนุญาตให้ย้ายจำเลยไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดแม่สอดนั้น เป็นเพียงข้อขัดข้องในทางปฏิบัติเท่านั้น จึงไม่มีเหตุสมควรให้ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดธัญบุรี) รับชำระคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน