แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีใดว่าลูกหนี้จะต้องรับผิดเพียงใด ย่อมเป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องดำเนินการในคดีนั้นเพื่อขอคำวินิจฉัยจากศาล แม้คดีนั้นจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่ในชั้นบังคับคดี เมื่อมีเหตุอันควรสงสัย คู่ความก็ยังมีสิทธิขอให้ศาลอธิบายคำพิพากษาได้
การที่โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนกลับมาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนเกี่ยวกับหนี้จำนองซึ่งศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยรับชำระหนี้รายเดียวกันนั้นอีก ย่อมเป็นฟ้องซ้ำเพราะเป็นคู่ความเดียวกัน และศาลต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน
ปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะตกลงกันขอให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นอื่น และสละประเด็นข้อฟ้องซ้ำเมื่อศาลเห็นสมควรก็ยังมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์จำนองที่ดินไว้กับธนาคารจำเลยค้ำประกันหนี้นายเอ็งลิบในวงเงิน 90,000 บาท ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้โจทก์ใช้เงินให้จำเลยแล้ว 20,000 บาท คงต้องรับผิดอีก 70,000 บาทจำเลยฟ้องโจทก์กับนายเอ็งลิบลูกหนี้ ศาลพิพากษาถึงที่สุดตามคดีแดงที่ 20/2510 ให้นายเอ็งลิบและโจทก์ร่วมรับผิด ซึ่งแปลว่ารับผิดตามส่วนของตนที่เป็นหนี้ ซึ่งแบ่งแยกได้ โจทก์ขอไถ่ถอนจำนองทั้งหมดเพื่อขายทอดตลาด โจทก์ร้องต่อศาลให้เรียกจำเลยมาสอบถามและขอไถ่ถอนจำนอง จำเลยไม่ยอม ศาลสั่งให้คู่ความไปดำเนินการตามสิทธิของตัว โจทก์จึงมาฟ้อง ขอให้ห้ามการขายทอดตลาดให้จำเลยรับเงิน 70,000 บาทและดอกเบี้ย เป็นการไถ่ถอนทรัพย์จำนองและปลดจำนองให้โจทก์
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ยอมรับผิดชอบในหนี้ทั้งสิ้น และศาลพิพากษาให้โจทก์ร่วมใช้หนี้ให้จำเลย 892,976 บาท 70 สตางค์ โจทก์ฟ้องซ้ำ
วันนัดพร้อม คู่ความรับกันว่าคดีนี้เกี่ยวเนื่องมาจากคดีแดงที่ 20/2510 ทั้งสองฝ่ายตกลงสละประเด็นข้ออื่นเสีย ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเพียงประเด็นเดียวว่าโจทก์จะต้องรับผิดตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวต่อจำเลยในฐานะลูกหนี้ร่วม เป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งเป็นการแปลคำพิพากษาในคดีดังกล่าว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าในคดีแพ่งแดงที่ 20/2510 ศาลพิพากษาให้โจทก์รับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วม โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา จึงต้องรับผิดเต็มจำนวนในฐานะลูกหนี้ร่วม พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องซ้ำ พิพากษายืนในผล
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาในสำนวนคดีแดงที่ 20/2510 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ชอบที่จะดำเนินการในสำนวนคดีดังกล่าวนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อน กลับมาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อน เกี่ยวกับหนี้จำนองซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยรับชำระหนี้รายเดียวกันนี้อีก ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์ฟ้องซ้ำ เพราะเป็นคู่ความเดียวกัน และศาลต้องวินิจฉัยในคดีนี้โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 การฟ้องซ้ำเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อเห็นสมควรศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้
เมื่อฟังว่าโจทก์ฟ้องซ้ำแล้ว ก็ไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้อต่อไป แต่เพื่อความยุติธรรม เห็นสมควรอธิบายในที่นี้ด้วยว่าในคดีก่อนนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินให้โจทก์ ซึ่งเท่ากับให้จำเลยร่วมกันในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมของโจทก์ตามคำพิพากษาก็ตาม แต่ฟ้องของโจทก์ก็บรรยายไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 (คือโจทก์ในคดีนี้) จำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท และจำเลยที่ 2 ให้การรับว่าได้จำนองไว้ในวงเงิน 90,000 บาท ได้ชำระให้โจทก์แล้ว 20,000 บาท คงเหลือ 70,000 บาท จะขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยผ่อนชำระเดือนละ 10,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นได้จดรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 14 ตุลาคม 2508 ว่า “ฯลฯ โจทก์ไม่ขอสืบเกี่ยวแก่จำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ให้การว่าได้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามฟ้องโจทก์จริงแต่ได้ชำระหนี้ให้แล้ว 20,000 บาท ซึ่งได้ตรวจหลักฐานแล้ว จำเลยที่ 2 ได้ชำระแล้วเช่นนั้นจริงโจทก์จึงขอสืบพยานเกี่ยวแก่จำเลยที่ 3 คนเดียว” ได้ความดังกล่าวนี้ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ชอบจะดำเนินการในสำนวนคดีก่อนเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์จะต้องรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาเป็นจำนวนเงินเท่าใดหรือไม่ ตลอดจนใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในคดีก่อนเช่นเดียวกัน แม้คดีก่อนจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่ในชั้นบังคับคดี เมื่อมีเหตุอันควรสงสัย คู่ความย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลอธิบายคำพิพากษาได้โดยไม่ต้องมาฟ้องใหม่
พิพากษายืน