คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2953/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จดทะเบียนเป็นมูลนิธิถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย บรรดาทรัพย์สินต่างๆรวมทั้งองค์เซียนแป๊ะโค้วย่อมตกเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้ เงินที่ประชาชนบริจาคในการจัดงานฉลององค์เซียนแป๊ะโค้วและนำไปฝากไว้ในบัญชีนั้นถือว่าเป็นเงินที่บริจาคให้แก่องค์เซียนแป๊ะโค้ว จึงตกเป็นของโจทก์ผู้เป็นเจ้าขององค์เซียนแป๊ะโค้ว เงินในบัญชีซึ่งเป็นเงินรายได้จากการจัดงานฉลององค์เซียนแป๊ะโค้วนั้น คู่ความทราบในคดีก่อนแล้วว่าได้มีการตกลงกันให้นำไปฝากไว้ที่ธนาคารโดยมีเงื่อนไขให้เบิกจ่ายได้ตามมติของคณะกรรมการจัดงาน และให้จำเลยที่2 ที่ 3 และบ. เป็นผู้ลงลายมือชื่อร่วมกันในเช็คเพื่อเบิกจ่ายเงินจากบัญชี ดังนั้นการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าว จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนี้เรื่อยไปจนกว่าคดีจะเสร็จหรือถึงที่สุด หาใช่ข้อตกลงนี้เป็นวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลพิพากษาซึ่งจะถูกยกเลิกไปเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 260 ไม่ เมื่อระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด จำเลยที่ 3 ซึ่งพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าเขตลาดกระบังแล้ว กลับมีหนังสือแจ้งธนาคารขอเปลี่ยนแปลงยกเลิกกรรมการผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินตามข้อตกลงเดิมทั้งหมด แล้วให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 คนใดคนหนึ่งออกเช็คสั่งจ่ายเงินในบัญชีแทน โดยไม่บอกกล่าวแถลงศาลก่อนหรือแจ้งบอกกล่าวแก่คู่ความในคดีนั้นซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง นอกจากจะเป็นการไม่ถูกต้องแล้วยังเรียกไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยสุจริต จำเลยที่ 1 ออกเช็คสั่งจ่ายเงินในบัญชีโดยควรรู้ดีว่าตนไม่มีอำนาจเบิกถอนเพราะขัดกับข้อตกลง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงทำละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 3 มีส่วนทำละเมิดดังกล่าวด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 ออกเช็คสั่งจ่ายเงินในบัญชีโดยควรรู้ดีว่าตนไม่มีอำนาจและเบิกถอนก่อนที่จำเลยที่ 3 จะมีหนังสือแจ้งธนาคารขอเปลี่ยนแปลงยกเลิกกรรมการผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงิน จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ตามลำพัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นมูลนิธิถูกต้องชอบด้วยกฎหมายบรรดาทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งองค์เซียนโป๊ะโค้วตกเป็นทรัพย์สินของมูลนิธินับแต่วันได้รับอนุญาต ต่อมานายมณฑล หาญพาณิชย์ ผู้จัดการปกครองศาลเจ้าองค์เซียนแป๊ะโค้ว(ฮะเฮงตั้ว) ได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวนายมณฑลกับโจทก์และพวกซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้นได้ตกลงกันชั่วคราวโดยให้โจทก์นำองค์เซียนไปไว้ในโรงเจเพื่อให้ประชาชนเคารพกราบไหว้ ส่วนรายได้ที่ประชาชนบริจาคให้นำมาเก็บไว้ที่ศาล ต่อมาได้ตกลงกันให้เอาไปฝากไว้ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาลาดกระบัง ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 4 ในบัญชีเลขที่ 379 โดยตกลงกันให้มีผู้เบิกจ่ายเงิน 3 คน คือจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายเปี๊ยนเซ็ม แซ่ฉั่ว ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2518 จำเลยที่ 3 ซึ่งพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าเขตลาดกระบังไปแล้วได้มีหนังสือถึงธนาคารจำเลยที่ 4 ขอเปลี่ยนแปลงการเบิกจ่ายเงินโดยให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 คนใดคนหนึ่งเป็นเบิกจ่ายเงินได้ โดยโจทก์ไม่ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เบิกจ่ายไปจากธนาคารจำเลยที่ 4 รวมเป็นเงิน325,265 บาท โดยการยินยอมเห็นชอบของธนาคารจำเลยที่ 4 การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ติดต่อขอรับสมุดฝากจากเขตลาดกระบังซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 5 กับติดต่อขอรับเงินที่เหลืออยู่ในบัญชีเลขที่ 379 จำนวน 157,718.80 บาท จากธนาคารจำเลยที่ 4 แต่ไม่ได้ผลขอบังคับจำเลยทั้งห้าชำระเงินคืนโจทก์จำนวน 482,983.80 บาท

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า จำเลยทั้งสองได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้เป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้าองค์เซียนแป๊ะโค้ว (ฮะเฮงตั้ว) การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในกิจการและทรัพย์สินอันเกี่ยวกับศาลเจ้าดังกล่าวตลอดจนการเบิกจ่ายเงินจากธนาคารจำเลยที่ 4 เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการเพื่อกิจการของศาลเจ้าทั้งสิ้น เรื่องที่โจทก์ทำความตกลงกับนายมณฑล หาญพาณิชย์ นั้น เมื่อศาลพิพากษาห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องในกิจการและทรัพย์สินของศาลเจ้าและมิให้ใช้ชื่อของศาลเจ้าเป็นชื่อของมูลนิธิแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมเป็นอันระงับไป เงินฝากในบัญชีเลขที่ 379 มิใช่ทรัพย์ของโจทก์ แต่เป็นเงินฝากในนามของโรงเจฮะเฮงตั้วอันเป็นทรัพย์สินที่ประชาชนบริจาคซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของคณะกรรมการบริหารโรงเจที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นมา ศาลเจ้าองค์เซียนแป๊ะโค้ว (ฮะเฮงตั้ว) หรือโรงเจฮะเฮงตั้วก็เป็นทรัพย์สินของประชาชน หาใช่ของมูลนิธิโจทก์ไม่ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 รับราชการเป็นหัวหน้าเขตลาดกระบัง มีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลศาลเจ้าองค์เซียนแป๊ะโค้ว (ฮะเฮงตั้ว) ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามฟ้อง ได้กระทำไปในระหว่างพิจารณาคดีตามคำสั่งศาลจึงเป็นการปฏิบัติโดยชอบ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิด ต่อมาศาลพิพากษาห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องในกิจการและทรัพย์สินของศาลเจ้า และห้ามมิให้ใช้ชื่อศาลเจ้าเป็นชื่อมูลนิธิโจทก์ คำสั่งหรือข้อตกลงชั่วคราวนั้นย่อมระงับลงโดยผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้น อำนาจหน้าที่ในการปกครองดูแลศาลเจ้าจึงตกอยู่แก่จำเลยที่ 3 ในฐานะหัวหน้าเขตลาดกระบัง จำเลยที่ 3 จึงมอบหมายอำนาจหน้าที่ในการจัดการปกครองดูแลศาลเจ้าให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และแจ้งให้จำเลยที่ 4 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2เป็นผู้เบิกจ่ายเงินฝากในบัญชีเลขที่ 379 ซึ่งโจทก์ก็มิได้ทักท้วง ทั้งเงินฝากในบัญชีดังกล่าวก็ไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การว่า บัญชีเงินฝากเลขที่ 379 เป็นบัญชีร่วมกันของจำเลยที่ 2ที่ 3 และนายวิชัย ธรรมลาภ โดยแจ้งใช้ชื่อในบัญชีว่า “กรรมการโรงเจฮะเฮงตั้ว”จำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่หรือความสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ที่จะต้องแจ้งการฝากหรือถอนเงินดังกล่าวให้โจทก์ทราบ ไม่มีเหตุที่จะต้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดแต่อย่างใดขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 5 ให้การว่า โจทก์จะเป็นนิติบุคคลและมอบอำนาจให้นายประสิทธิ์วิจิตรโสภณ ฟ้องคดีโดยถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 5 ไม่ทราบและไม่รับรอง จำเลยที่ 5 มิได้มอบหมายให้จำเลยที่ 3 เข้าไปดำเนินกิจการและทรัพย์สินของศาลเจ้าองค์เซียนแป๊ะโค้ว (ฮะเฮงตั้ว) การเบิกจ่ายเงินจำเลยที่ 3 กระทำไปตามลำพังเป็นการเฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ดำเนินงานและจัดการทรัพย์สินของศาลเจ้าไปตามวัตถุประสงค์ของศาลเจ้า จึงเป็นการกระทำที่ชอบและไม่ทำให้โจทก์เสียหายจำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดและไม่มีหน้าที่จะต้องส่งสมุดฝากเงินให้แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่แสดงชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 5 มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์อย่างไร หรือกระทำการใดซึ่งเป็นการละเมิดและทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องและคำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์จำนวน313,126 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ จำนวน 12,139 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 4 คืนเงินตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 379 แก่โจทก์ จำนวน150,668.80 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 313,126 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินแก่โจทก์12,139 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่ปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 4 คืนเงินตามบัญชีเงินฝากเลขที่ 379 แก้โจทก์ จำนวน150,668.80 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อแรกว่าเงินรายได้จากการจัดงานฉลององค์เซียนแป๊ะโค้วซึ่งนำไปฝากไว้ในบัญชีเลขที่ 379 เป็นของโจทก์หรือไม่ เห็นว่าแม้การฟ้องคดีก่อนที่ศาลจังหวัดมีนบุรีตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 69/2518 จะเป็นเรื่องแย่งสิทธิปกครองดูแลศาลเจ้ากับองค์เซียนแป๊ะโค้ว และคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง เพราะเห็นว่า นายมณฑล หาญพาณิชย์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้าตามคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจฟ้องและไม่ได้วินิจฉัยประเด็นอื่น แต่ศาลฎีกาก็ฟังข้อเท็จจริงอย่างเดียวกับศาลอุทธรณ์ในข้อที่ว่า โจทก์ได้จดทะเบียนตั้งมูลนิธิเป็นนิติบุคคลโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2516 ดังนั้น บรรดาทรัพย์สินต่าง ๆรวมทั้งองค์แป๊ะโค้วจึงตกเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิโจทก์ สำหรับเงินที่ประชาชนบริจาคในการจัดงานฉลององค์เซียนแป๊ะโค้วและนำไปฝากไว้ในบัญชีเลขที่ 379 ก็ต้องถือว่าเป็นเงินที่บริจาคให้แก่องค์เซียนแป๊ะโค้วซึ่งมีความสำคัญและเป็นทรัพย์ประธานที่ประชาชนกราบไหว้ ส่วนตัวศาลเจ้าเป็นเพียงสถานที่ประดิษฐานองค์เซียนเท่านั้นเงินฝากในบัญชีเลขที่ 379 จึงเป็นของมูลนิธิโจทก์ผู้เป็นเจ้าขององค์เซียนแป๊ะโค้วหาใช่เป็นเงินที่ประชาชนบริจาคให้แก่ศาลเจ้าไม่

ปัญหาต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกเช็คเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเลขที่ 379 เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ และจะต้องรับผิดเพียงใดหรือไม่ กับจำเลยที่ 3 มีส่วนทำละเมิดและจะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสามจะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่ทุกคนก็ทราบดีว่าเงินในบัญชีดังกล่าวเป็นเงินรายได้จากการจัดงานฉลององค์เซียนแป๊ะโค้วซึ่งคู่ความในคดีนั้นตกลงกันให้นำมาวางศาลไว้ก่อนในระหว่างคดียังไม่เสร็จ ต่อมาเปลี่ยนแปลงใหม่ให้นำไปฝากไว้ในบัญชีเลขที่ 379 โดยมีเงื่อนไขให้เบิกจ่ายได้ตามมติของคณะกรรมการจัดงานและให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายเบี้ยงเซ็นหรือเบี้ยนเซ็น แซ่ฉั่ว เป็นผู้ลงลายมือชื่อร่วมกันในเช็คเพื่อเบิกจ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าว ดังนั้น การเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเลขที่ 379 จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนี้เรื่อยไปจนกว่าคดีจะเสร็จหรือถึงที่สุด หาใช่ข้อตกลงนี้เป็นวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลพิพากษาซึ่งจะถูกยกเลิกไปเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 260 ไม่ แต่ระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2518 จำเลยที่ 3 ก็มีหนังสือแจ้งธนาคารขอเปลี่ยนแปลงยกเลิกกรรมการผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินในบัญชีเลขที่ 379 ตามข้อตกลงเดิมทั้งหมดแล้วให้จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 คนใดคนหนึ่งออกเช็คสั่งจ่ายเงินแทน จึงไม่ถูกต้องและจะถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยสุจริตก็ไม่ได้เพราะจำเลยที่ 3 ไม่บอกกล่าวแถลงศาลก่อน หรือแจ้งบอกกล่าวแก่คู่ความในคดีนั้นซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง จำเลยที่ 3 ควรจะถอนตัวออกไปเฉย ๆ เพราะขณะนั้นจำเลยที่ 3 ก็พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าเขตลาดกระบังแล้ว จำเลยที่ 3 กลับมีหนังสือถึงธนาคารซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจเบิกจ่ายเงินในบัญชีเลขที่ 379 และจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินในบัญชีดังกล่าวเป็นจำนวนมากถึง 313,126 บาท ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายตามจำนวนเงินดังกล่าวด้วย สำหรับจำเลยที่ 1ที่ 3 หากได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้าจริง ก็มีฐานะอย่างเดียวกับนายมณฑล หาญพาณิชย์ ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวเท่านั้น จึงควรจะรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตน เมื่อคดีนั้นยังไม่เสร็จหรือถึงที่สุด จำเลยที่ 1 ที่ 2 ย่อมไม่มีอำนาจเบิกถอนเงินจากบัญชีเลขที่ 379 ไปใช้จ่ายเพราะขัดกับข้อตกลง การที่จำเลยที่ 2ออกเช็คเบิกเงินจากบัญชีออกมาใช้จ่ายและไม่มีเอกสารหรือพยานหลักฐานแสดงให้เห็นได้แน่ชัดว่าจ่ายเป็นค่าอะไร จำนวนเท่าใด และเป็นประโยชน์แก่กิจการของโจทก์บ้างหรือไม่ ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดและจะต้องรับผิดใช้เงินตามจำนวนดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีจำนวน 12,139 บาท เป็นการเบิกจ่ายเงินในเดือนตุลาคม 2518 ทั้งหมด และก่อนที่จำเลยที่ 3 จะมีหนังสือขอยกเลิกเปลี่ยนแปลงการเบิกจ่ายเงินด้วย จึงเป็นเรื่องจำเลยที่ 2 ทำละเมิดตามลำพังและจะต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคนเดียว

พิพากษายืน

Share